อันตรายิกธรรม ( อ่านว่า อัน-ตะ-รา-ยิ-กะ-ทำ ) หมายถึง ธรรมอันกระทำอันตราย คือเป็นเหตุขัดขวางต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้หลายนัย
การอุปสมบท
ในการอุปสมบท ภิกษุจะถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ ( ผู้มุ่งจะบวช ) เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้
อันตรายิกธรรมของภิกษุ
ชายผู้จะบวชเป็นพระภิกษุต้องปราศจากอันตรายิกธรรม 13 ข้อ ได้แก่
1. เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่
2. เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
3. เธอเป็นโรคกลากหรือไม่
4. เธอเป็นโรคมองคร่อ คือ มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลมหรือไม่
5. เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
6. เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม
7. เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม
8. เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
9. เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
10. เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม
11. บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม
12. เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
13. เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม
อันตรายิกธรรมของภิกษุณี
หญิงผู้จะบวชเป็นพระภิกษุณีต้องปราศจากอันตรายิกธรรม 24 ข้อ ได้แก่
1. ไม่มีเครื่องหมายเพศ
2. สักแต่ว่ามีเครื่องหมายเพศ
3. ไม่มีประจำเดือน
4. มีประจำเดือนไม่หยุด
5. ใช้ผ้าซับในเสมอ
6. เป็นคนไหลซึม
7. มีเดือย
8. เป็นบัณเฑาะก์หญิง
9. มีลักษณะคล้ายชาย
10. มีทวารหนักทวารเบาติดกัน
11. มีสองเพศ
12. โรคเรื้อน
13. ฝี
14. โรคกลาก
15. โรคมองคร่อ
16. ลมบ้าหมู
17. ไม่ใช่มนุษย์
18. ไม่ใช่หญิง
19. ไม่เป็นไท
20. หนี้สิน
21. เป็นราชภัฏ
22. มารดาบิดาไม่อนุญาต
23. มีปีไม่ครบ 20
24. บาตรจีวรไม่ครบ
สวรรค์และนิพพาน
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาปาจิตติยกัณฑ์ เรียกธรรมที่ทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพานว่า อันตรายิกธรรม มี 5 อย่าง คือ
1. กรรม หมายถึง อนันตริยกรรม ( การข่มขืนภิกษุณีเป็นอันตรายแก่พระนิพพาน แต่ไม่ถึงอันตรายแก่สวรรค์ )
2. กิเลส หมายถึง นิยตมิจฉาทิฏฐิ
3. วิบาก หมายถึง การปฏิสนธิเป็นบัณเฑาะก์ เดรัจฉาน และอุภโตพยัญชนก
4. อุปวาท หมายถึง การว่าร้ายพระอริยเจ้า ( ยกเว้นได้รับการยกโทษจากพระอริยเจ้านั้นแล้ว )
5. อาณาวีติกกมะ หมายถึง การจงใจต้องอาบัติ แลัวยังไม่ลาสิกขาบทหรือยังไม่ทำคืน
ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/อันตรายิกธรรม
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
- จบ -