อกรณียกิจ
อย่าปล่อยให้ทำผิดแล้วอ้างว่า “ไม่รู้”
อ่านว่า อะ-กะ-ระ-นี-ยะ-กิด
แยกคำเป็น อกรณีย + กิจ
( 1 ) “อกรณีย”
บาลีอ่านว่า อะ-กะ-ระ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก น + กรณีย
( ก ) “น” ( นะ )
เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่ , ไม่ใช่ ( no , not )
( ข ) “กรณีย”
บาลีอ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก กร ( ธาตุ = ทำ ) + อนีย ปัจจัย ( แปลว่า ควร , พึง ) , แปลง น เป็น ณ
: กร + อนีย = กรนีย > กรณีย แปลตามศัพท์ว่า “พึงทำ” หรือ “ควรทำ” หมายถึง กิจที่ควรทำ , สิ่งที่ควรทำ , ข้อผูกพัน , หน้าที่ , การงาน ( what ought to be done , duty , obligation ; affairs , business )
น + กรณีย แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
( 1 ) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
( 2 ) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ ( อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ) แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “กรณีย” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ก- จึงต้องแปลง น เป็น อ
: น + กรณีย = นกรณีย > อกรณีย แปลว่า “ที่ไม่ควรทำ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อกรณีย์” ไว้ บอกไว้ว่า –
“อกรณีย์ : ( คำนาม ) กิจที่ไม่ควรทํา. ( ป. )”
( 2 ) “กิจ”
บาลีเป็น “กิจฺจ” ( กิด-จะ ) รากศัพท์มาจาก กรฺ ( ธาตุ = กระทำ ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ กรฺ และ ร ที่ ริจฺจ ( ริจฺจ ลบ ร = อิจฺจ )
: กรฺ > ก + ริจฺจ > อิจฺจ : ก + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่ , การงาน , การบริการ ; พิธี , การกระทำ ( duty , obligation , service , attention ; ceremony , performance )
“กิจฺจ” ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออก ใช้ทับศัพท์ว่า “กิจ” ( กิด ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“กิจ , กิจ- : ( คำนาม ) ธุระ , งาน. ( ป. กิจฺจ )”
อกรณีย + กิจ = อกรณียกิจ แปลว่า “กิจที่ไม่ควรทำ”
อธิบาย :
“อกรณียกิจ” เป็นส่วนหนึ่งใน “อนุศาสน์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อนุศาสน์” ไว้ดังนี้ -
…………..
อนุศาสน์ : คำสอนตามพุทธบัญญัติ ที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ในเวลาอุปสมบทเสร็จ ประกอบด้วย นิสสัย 4 และ อกรณียะ 4 ท่านเรียกรวมว่า “อนุศาสน์” บางทีก็เรียกบอกจำนวนด้วยว่า “อนุศาสน์ 8” (อกรณีย์ หรือ อกรณียะ 4 นิยมเรียกกันว่า อกรณียกิจ 4 )
นิสสัย 4 คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต 4 อย่าง ได้แก่ 1. เที่ยวบิณฑบาต 2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล 3. อยู่โคนไม้ 4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ( ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย 4 พร้อมทั้งอติเรกลาภของภิกษุ )
อกรณีย์ 4 ( นิยมเรียกว่า อกรณียกิจ 4 ) ข้อที่ไม่ควรทำ หมายถึงกิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ 4 อย่าง ได้แก่ 1. เสพเมถุน 2. ลักของเขา 3. ฆ่าสัตว์ ( ที่ให้ขาดจากความเป็นภิกษุ หมายเอาฆ่ามนุษย์ ) 4. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน
…………..
ขยายความ :
การบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากชาวบ้านมาเป็นชาววัด เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ทันทีมี 2 ส่วน
เรื่องอื่นๆ ที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ต่อไปยังมีอีกมาก แต่ 2 ส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องศึกษาเรียนรู้ทันที คือ
1 วิธีดำรงชีพ คือจะกินจะอยู่ จะนุ่งจะห่มอย่างไร ต้องรู้ทันที เพราะเมื่อเปลี่ยนเพศแล้วจะกินจะอยู่อย่างชาวบ้านไม่ได้ ส่วนนี้ท่านเรียกว่า “นิสสัย”
2 สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด ส่วนนี้ก็ต้องรีบบอกให้รู้ไว้ เพราะถ้าไม่บอกไว้ก่อน แล้วไปทำเข้า จะขาดจากความเป็นบรรพชิตทันที ส่วนนี้ท่านเรียกว่า “อกรณียกิจ”
เรื่องทั้ง 2 ส่วนนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ท่านจึงรีบสอนกันตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่บวชเข้ามา
เพราะฉะนั้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาจะอ้างไม่ได้เลยว่า “ไม่รู้”
เมื่อเร็ววันนี้มีข่าวพระภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับสตรี ท่านอ้างว่าทำไปเพราะ “ไม่รู้”
พูดตามสำนวนสมัยใหม่ก็ต้องว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2019/08/14/อกรณียกิจ-อย่าปล่อยให้ท/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
- จบ -