Thursday, November 25, 2021

จีวรขันธกะ : ทรงอนุญาตผ้าที่ตัดและไม่ตัด

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง จีวรขันธกะ : ทรงอนุญาตผ้าที่ตัดและไม่ตัด
 



ทรงอนุญาตผ้าที่ตัดและไม่ตัด


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 161 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อสงฆ์กำลังทำจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้าตัดทั้งหมดไม่พอ 

       … ตรัสว่า 

       251. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ต้องตัด 2 ผืน ไม่ต้องตัด 1 ผืน



       ผ้าต้องตัด 2 ผืน ไม่ต้องตัดผืนหนึ่ง ผ้าก็ยังไม่พอ

       … ตรัสว่า 

       252. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้า 2 ผืนไม่ต้องตัด ผืนหนึ่งต้องตัด 



       ผ้า 2 ผืนไม่ต้องตัด ผืนหนึ่งต้องตัด ผ้าก็ยังไม่พอ

       … ตรัสว่า  

       253. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เพิ่มผ้าเพลาะ

       แต่ผ้าทุกผืนที่ไม่ได้ตัด ภิกษุไม่พึงใช้ 

       รูปใดใช้  ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงอนุญาตให้ผ้าแก่มารดาบิดาได้


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 162 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืนและท่านปรารถนาจะให้ผ้านั้นแก่โยมมารดาบิดา

       … ตรัสว่า

       254. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุให้ด้วยรู้ว่ามารดาบิดา เราจะพึงว่าอะไร 

       เราอนุญาตให้สละแก่มารดาบิดา

       แต่ภิกษุไม่พึงทำศรัทธาไทย * * * ( 1 )  ให้ตกไป 

       รูปใดให้ตกไป  ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงห้ามครองผ้า 2 ผืนเข้าบ้าน


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 163 )  


       255. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีแต่ผ้าอุตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกไม่พึงเข้าบ้าน

       รูปใดเข้าไป  ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

เหตุที่เก็บจีวรไว้ได้  ( สามารถครองผ้า 2 ผืนเข้าบ้านได้ )

       256. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าสังฆาฏิไว้ได้ มี 5 อย่าง คือ

       เจ็บไข้ 1 
 
       สังเกตเห็นว่าฝนจะตก 1 

       ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ 1 

       ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล 1 
 
       ได้กรานกฐิน 1 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าสังฆาฏิไว้ได้มี 5 อย่างนี้แล 


       257. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอุตราสงค์ไว้ได้มี 5 อย่างนี้ คือ 

       เจ็บไข้ 1 

       สังเกตเห็นว่าฝนจะตก 1 

       ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ 1 

       ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล 1 

       ได้กรานกฐิน 1 

 
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอุตราสงค์ไว้ได้มี 5 อย่างนี้แล  


       258. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอันตรวาสกไว้ได้มี 5 อย่างนี้ 

       เจ็บไข้ 1 

       สังเกตเห็นว่าฝนจะตก 1 

       ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ 1 

       ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล 1 

       ได้กรานกฐิน 1 

 
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอันตรวาสกไว้ได้มี 5 อย่างนี้แล 


       259. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ได้มี 5 อย่างนี้ คือ

       เจ็บไข้ 1 

       ไปนอกสีมา 1 

       ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ 1 

       ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล 1 

       ผ้าอาบน้ำฝนยังไม่ได้ทำ หรือทำค้างไว้ 1 

 
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ได้มี 5 อย่างนี้แล 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงอนุญาตเกี่ยวกับการแบ่งจีวร 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 164 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว

       คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์

       จึงภิกษุรูปนั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ 4 รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์  แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ ดังนี้

       ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี

       … ตรัสว่า 

       ดูกรภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน 


       260. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว 

       ประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวร ด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงเวลาเดาะกฐิน 



       สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล

       ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ 

       จึงภิกษุรูปนั้นได้ดำริดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ 4 รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์

       แต่เราอยู่ผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์

       ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี

       ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี แจ้งความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย

       … ตรัสว่า

       261. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้ากันแจก 


       262. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุอยู่ผู้เดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวร ด้วยเปล่งวาจาว่าพวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรูปนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า จีวรเหล่านี้ของเรา

       ถ้าเมื่อภิกษุรูปนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

       ถ้าเมื่อภิกษุ 2 รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังมิได้จับสลาก มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

       ถ้าเมื่อภิกษุ 3 รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จแล้ว มีภิกษุรูปอื่นมา พวกเธอไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 165 )  


       263. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วนจีวรในวัดอื่น 

       รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ 



       สมัยต่อมา ท่านพระอุปนนทศากยบุตร รูปเดียวจำพรรษาอยู่สองวัด ด้วยคิดว่า โดยวิธีอย่างนี้ จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรามาก

       ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า พวกเราจักให้ส่วนจีวรแก่ท่านพระอุปนนทศากยบุตรอย่างไรหนอ

       … ตรัสว่า

       264. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ส่วนแก่โมฆบุรุษส่วนเดียว 

       ภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ภิกษุรูปเดียว จำพรรษาอยู่ 2 วัด ด้วยคิดว่าโดยวิธีอย่างนี้ จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรามาก

       ถ้าภิกษุจำพรรษาในวัดโน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง พึงให้ส่วนจีวรในวัดโน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง 

       หรือจำพรรษาในวัดใดมากกว่า พึงให้ส่วนจีวรในวัดนั้น 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงให้พยาบาลภิกษุผู้อาพาธ


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 166 )  


       …ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ

       ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล 


       265. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นจึงพยาบาลภิกษุอาพาธ

       ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย

       ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 

       ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 

       ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 

       ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย  

       ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย  

       ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล

       ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยาก 5 อย่าง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นผู้พยาบาลได้ยาก คือ 

       1. ไม่ทำความสบาย 

       2. ไม่รู้ประมาณในความสบาย

       3. ไม่ฉันยา 

       4. ไม่บอกอาการไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่งประโยชน์ คือ

       ไม่บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ

       อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา

       อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ 

       5. มีนิสัยเป็นคนไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดปรากฏในร่างกาย อันกล้าแข็ง รุนแรงไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันจะพล่าชีวิตเสีย


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ยาก 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ง่าย 5 อย่าง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย 

       1. คือทำความสบาย 

       2. รู้ประมาณในความสบาย 

       3. ฉันยา 

       4. บอกอาการป่วยไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่งประโยชน์ คือ

       บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ 

       อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา 

       อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ 

       5. มีนิสัยเป็นคนอดทนต่อทุกขเวทนา อันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันจะพล่าชีวิตเสีย


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

องค์ของภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล 5 อย่าง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ 5 ไม่ควรพยาบาลไข้ คือ

       1. เป็นผู้ไม่สามารถเพื่อประกอบยา 

       2. ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ กันของไม่แสลงออกเสีย

       3. พยาบาลไข้เห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา 

       4. เป็นผู้เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไป 

       5. เป็นผู้ไม่สามารถจะชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล ไม่ควรพยาบาลไข้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

องค์ของภิกษุผู้เข้าใจพยาบาล 5 อย่าง

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ 5 ควรพยาบาลไข้ คือ 

       1. เป็นผู้สามารถประกอบยา 

       2. รู้จักของแสลง และไม่แสลง คือกันของแสลงออก นำของไม่แสลงเข้าไปให้  

       3. มีจิตเมตตาพยาบาลไข้ ไม่เห็นแก่อามิส 

       4. เป็นผู้ไม่เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไปเสีย 

       5. เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงให้คนไข้ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ในกาลทุกเมื่อ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล ควรพยาบาลไข้ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงอนุญาตให้บาตรจีวรของผู้มรณภาพแก่คิลานุปัฏฐาก


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 167 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ 2 รูปเดินทางไกลไปในโกศลชนบท

       ได้เข้าไปอยู่อาวาสแห่งหนึ่ง

       บรรดาภิกษุ 2 รูปนั้น รูปหนึ่งอาพาธ

       จึงภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษาตกลงกันดังนี้ว่า

       อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุอาพาธ ผิฉะนั้น พวกเราจงพยาบาลภิกษุรูปนี้เถิด

       แล้วพากันพยาบาลภิกษุอาพาธนั้น 

       เธออันภิกษุเหล่านั้นพยาบาลอยู่ได้ถึงมรณภาพ

       จึงภิกษุเหล่านั้นถือบาตรจีวรของเธอไปพระนครสาวัตถี 

       … ตรัสว่า  

       266. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ 


วิธีให้

       267.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือ

       ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

       ท่านเจ้าข้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของท่าน 

       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย กรรมวาจา ว่าดังนี้  


* * * กรรมวาจาให้จีวรและบาตร

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวรและบาตรของเธอ 

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ 

       นี้เป็นญัตติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวรและบาตรของเธอ

       สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้

       การให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 


       สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 



       สมัยต่อมา สามเณรรูปหนึ่งถึงมรณภาพ

       … ตรัสว่า  

       268. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสามเณรถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร

       แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ 


วิธีให้

       269. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือ

       ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 

       ท่านเจ้าข้า สามเณรชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ 

       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย กรรมวาจา ว่าดังนี้  


* * * กรรมวาจาให้จีวรและบาตร

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ผู้พยาบาลไข้

       นี้เป็นญัตติ


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ

       สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้

       การให้จีวรและบาตรนี้ แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 


       สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 



       สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง ช่วยกันพยาบาลภิกษุอาพาธ

       เธออันภิกษุและสามเณรนั้นพยาบาลอยู่ ได้ถึงมรณภาพ

       จึงภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น ได้มีความปริวิตกว่า เราพึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ

       … ตรัสว่า 

       270. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนแก่สามเณร ผู้พยาบาลไข้เท่าๆ กัน 



       สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งมีของใช้มาก มีบริขารมาก ได้ถึงแก่มรณภาพ

       … ตรัสว่า 

       271. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตร จีวร

       แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก

       เราอนุญาตให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรให้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้

       บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง บรรดาสิ่งของเหล่านั้น

       สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่ง ไม่ควรแจก 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ทรงห้ามสมาทานติตถิยวัตร


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 168 )  


       272.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์สมาทาน

       รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติถุลลัจจัย 


       273. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าคากรองอันเป็นธงชัยของเดียรถีย์  

       รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย 


       274. … ไม่พึงนุ่งผ้าเปลือกไม้กรอง …


       275. … นุ่งผ้าผลไม้กรอง … 


       276. … นุ่งผ้ากัมพลทำด้วยผมคน … 


       277. … นุ่งผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ …  


       278. … นุ่งผ้าทำด้วยปีกนกเค้า … 


       279.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงหนังเสืออันเป็นธงชัยของเดียรถีย์

       รูปใดทรง  ต้องอาบัติถุลลัจจัย 


       280. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก

       รูปใดนุ่ง  ต้องอาบัติทุกกฏ 


       281. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ 

       รูปใดนุ่ง  ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


* * * ( 1 ) : มาจากบาลีว่า สทฺธาเธยฺย หมายถึง อันเขาให้ด้วยความศรัทธา - ผู้รวบรวม 



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 5 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 4 : จีวรขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : จีวรขันธกะ : ทรงอนุญาตผ้าที่ตัดและไม่ตัด 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 489 , 490 , 491 , 492 , 493 , 494 , 495 , 496 , 497 , 498  



- จบ -