Thursday, November 25, 2021

นิสีทนะ/ผ้า-นิสีทนะ

 

นิสีทนะ/ผ้า-นิสีทนะ


       ผ้านิสีทนะ ( อ่านว่า นี-สี-ทะ-นะ ) - ผ้าปูรองนั่ง มีพระพุทธบัญญัติให้พระรู้จักรักษาไตรจีวรให้สะอาด โดยลาดผ้านิสีทนะก่อน แล้วจึงนั่ง ห้ามมิให้นั่งกับพื้นโดยไม่มีผ้าปู ผ้านิสีทนะเป็นบริขารที่ไม่สู้จำเป็นนักอาจไม่มีสักชั่วระยะหนึ่งก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 4 เดือน

       ผ้านิสีทนะขนาดมาตรฐาน ยาว 2 คืบ กว้างคืบครึ่ง มีชาย 1 คืบ พระพุทธบัญญัตินี้ทำให้เกิดธรรมเนียม พระนั่งต้องมีอาสนะไม่ให้นั่งกับพื้น 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       ผ้านิสีทนะ ( นี-สี-ทะ-นะ ) แปลตามศัพท์ว่า ผ้ารองนั่ง ใช้สำหรับรองนั่ง เพื่อป้องกันเนื้อตัวไปถูกพื้นเสนาสนะและป้องกันจีวรหรือสบงเปรอะเปื้อน

       เพราะถ้าผิวเนื้อส่วนที่มีขนของภิกษุไปถูกเสนาสนะมีเตียงตั่งหรือเครื่องปูลาดของสงฆ์เป็นต้นโดยตรง จะทำให้ต้องอาบัติทุกกฏตามจำนวนเส้นขน ( ดู เสนาสนขันธกะ วิ.จูฬ. 7/102 , วิ.อฏฺ. 3/355-6 ) 

       ในฎีกายังกล่าวถึงประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของผ้านิสีทนะว่าสามารถ นำมานุ่งเพื่อป้องกันอสุจิเปรอะเปื้อนเสนาสนะเป็นต้นอีกด้วย ( ดู วิ.ลงฺการ. 2/341-2 ) ( เหตุที่ผ้านิสีทนะมีชายก็เพื่อจะสามารถเอาไว้นุ่งข้างในสบงได้ด้วยนั่นเอง )



ขนาดของผ้านิสีทนะ

       เรื่องขนาดของนิสีทนะ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 

       นิสีทนํ ปน ภิกฺขุนา การยมาเนน ปมาณิกํ กาเรตพฺพํ, ตตฺริทํ ปมาณํ, ทีฆโส เทฺว วิทตฺถิโย สุคตวิทตฺถิยา, ติริยํ ทิยฑฺฒํ, ทสา วิทตฺถิ. ตํ อติกฺกามยโต เฉทนกํ ปาจิตฺติยํ 

       ภิกษุผู้จะให้ทำผ้านิสีทนะ พึงให้ทำให้ได้ขนาด ขนาดในข้อนั้นคือ ยาว 2 คืบ กว้างคืบครึ่ง ชาย 1 คืบโดยคืบพระสุคต เมื่อให้ทำเกินขนาดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่มีการตัด   

       ถ้าคิดตามหลักการคำนวณคืบพระสุคตตามที่อรรถกถากล่าวไว้ ผ้านิสีทนะ จะห้ามมีขนาดเกินด้านยาว 150 ซ.ม. กว้าง 112.5 ซ.ม. ชาย 75 ซ.ม. ซึ่งจะเห็นว่าใหญ่มาก แต่ถ้าถือตามมตินี้ ภิกษุก็จะไม่ต้องกังวลในเรื่องการทำผ้านิสีทนะเกินขนาด เพราะคงไม่มีใครทำผ้านิสีทนะผืนใหญ่ขนาดนั้นแน่ 

       *ผ้านิสีทนะตามที่ปรากฏในหลักฐานทั้งพระบาฬีและอรรถกถา ล้วนแต่เป็น ผ้าที่มีชาย ในขุททสิกขาอภินวฎีกา ( 51/265 ) ถึงกับย้ำว่า "ท่านห้ามผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายไว้โดยประการทั้งปวง" ซึ่งแตกต่างจากผ้านิสีทนะที่ภิกษุนิยมใช้กันในปัจจุบันที่เป็นผ้าสี่เหลี่ยมจตุรัสธรรมดา 

       ดังนั้น เมื่อถือตามมติที่หนัก หากผ้านิสีทนะไม่มีชาย จึงไม่ควรอธิษฐานเป็น นิสีทนะ ( การอธิษฐานผ้านิสีนะ ทำได้โดยจับผ้าแล้วกล่าวว่า "อิมํ นิสีทนํ อธิฏฺฐามิ" )
 
       แต่สามารถอธิษฐานใช้เป็นผ้าบริขารทั่วไป ( บริขารโจฬ ) แทนได้ ( การอธิษฐานเป็นผ้าบริขาร ทำได้โดยการจับผ้าแล้วกล่าวว่า "อิมํ จีวรํ ปริกฺขารโจฬํ อธิฏฺฐามิ )


* * * ถ้าไปในบางวัด จะเห็นภิกษุสามเณรมักจะมีผ้าผืนเล็กๆ พาดไว้ที่บ่าติดตัวเป็นประจำ ผ้านั้นก็คือผ้านิสีทนะนั่นเอง เป็นการเตรียมพร้อมเผื่อได้ใช้รองนั่งดังที่อธิบายไว้ในตอนต้น


- จบ -