Thursday, November 25, 2021

ไตรจีวร

 

ไตรจีวร



       ไตรจีวร คือ ผ้าจีวร 3 ผืน คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้สอย หมายถึงผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ ( ผ้าพาดบ่า ) อุตราสงค์ ( ผ้าจีวรสำหรับห่ม ) และอันตรวาสก ( ผ้าสบงสำหรับนุ่ง ) แต่นิยมเรียกรวมกันว่า ไตรจีวร ไตรจีวรเป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 8 อย่าง

       นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกไตรจีวรทั้งนิกายเถรวาทและมหายานคือคำว่า กาสาวะ กาสายะ หรือ กาษายะ ( บาลี: kasāva kasāya กาสาว กาสาย; สันสกฤต: काषाय kāṣāya กาษาย; จีน: 袈裟; พินอิน: jiāshā; ญี่ปุ่น: 袈裟; ทับศัพท์: kesa; เกาหลี: 가사; ฮันจา: 袈裟; อาร์อาร์: gasa; เวียดนาม: cà-sa ) ซึ่งหมายเอาตามชื่อสีที่ใช้ย้อมทำจีวรเป็นหลัก โดยผ้ากาสาวะ หมายถึงผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งก็คือผ้าไตรจีวรทั้งสามผืนนั่นเอง



ความเป็นมาของจีวร

       ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อ ๆ กัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล



ลายคันนาบนจีวร

       จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า

       "อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"

       พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า." 

       ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า 

       "ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า." 

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

       "ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ" 



ไตรจีวร

       หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้ว ให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ ผ้า 3 ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง

       ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็น และรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ ( รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ ) 

       อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน และสามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นจีวรที่มี 2 เจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด 

       ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ ถวายพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ 10 วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไป ทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะปฏิบัติอย่างไร กับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน 



ผ้าที่ใช้ทอจีวร

       สมัยต่อมา มีจีวรหลายประเภทเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่แน่ใจว่า จีวรชนิดใดที่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจีวร 6 ชนิด คือ

       - จีวรทำด้วยเปลือกไม้

       - ทำด้วยฝ้าย 

       - ทำด้วยไหม 

       - ทำด้วยขนสัตว์ 

       - ทำด้วยป่าน 

       - ทำด้วยของเจือกัน 



สีจีวร

       ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระภิกษุย้อมสีจีวรต่างกันไป พระโคตมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า 

       "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม 6 อย่าง คือ น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า 1 น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ 1"

       ส่วนสีที่ทรงห้ามมี 7 สี คือ สีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา , สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์ , สีแดงเหมือนชบา , สีหงสบาท ( สีแดงกับเหลืองปนกัน ) , สีดำเหมือนลูกประคำดีควาย , สีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ และสีแดงกลายแดงผสมคล้ายใบไม้แก่ใกล้ร่วงเหมือนสีดอกบัว 

       บางแห่งระบุว่า สีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู 


- จบ -