Thursday, November 25, 2021

สังฆาฏิ/ผ้า-สังฆาฏิ

 

สังฆาฏิ/ผ้า-สังฆาฏิ 



       สังฆาฏิ ( อ่านว่า สัง-คา-ติ ) แปลว่า ผ้าซ้อนนอก , ผ้าทาบ เป็นชื่อเรียกผ้าผืนหนึ่งในจำนวน 3 ผืน หรือไตรจีวรของพระคือ จีวร สบง สังฆาฏิ 

       สังฆาฏิ คือผ้าที่ซ้อนทับจีวรอีกชั้นหนึ่งทำนองเป็นผ้าคลุมสำหรับป้องกันความหนาวในฤดูหนาว เมื่อห่มทาบจีวรก็จะเป็นผ้าสองชั้น ทำให้อบอุ่นขึ้นเมื่อห่ม จึงเรียกว่า ผ้าสังฆาฏิ ( ผ้าซ้อน, ผ้าทาบ ) 

       สังฆาฏิแท้จริงแล้วเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น ห่มแทนจีวร ทำเป็นผ้ากันแดดได้ เป็นต้น 

       ในประเทศไทย สังฆาฏิ ปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้ใช้ห่มซ้อนกับจีวรเหมือนก่อน ด้วยอยู่ในในถิ่นที่อากาศไม่หนาวจนเกินไป แต่พับแล้วพาดเก็บไว้บนบ่าเพื่อความสะดวกในเวลาเดินทาง จนกลายเป็นผ้าพาดบ่าตามปกติไป  


ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/สังฆาฏิ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       “สังฆาฏิ” บาลีเป็น “สงฺฆาฏิ” ( สัง-คา-ติ ) รากศัพท์มาจาก สํ ( คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน ) + ฆฏฺ ( ธาตุ = เบียดเสียด , เสียดสี ) + อิ ปัจจัย , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ ( สํ > สงฺ ) , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ฆ-( ฏฺ ) เป็น อา ( ฆฏฺ > ฆาฏ ) 

       : สํ > สงฺ + ฆฏฺ = สงฺฆฏฺ + อิ = สงฺฆฏิ > สงฺฆาฏิ ( อิตถีลิงค์ ) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่เบียดเสียดร่างกาย” หมายถึง ผ้าห่มกันหนาว 

       “สงฺฆาฏิ” เขียนในภาษาไทยเป็น “สังฆาฏิ” 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆาฏิ” ว่า one of the three robes of a Buddhist ( หนึ่งในผ้าสามผืนของภิกษุ )

       ปทานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ แปล “สงฺฆาฏิ” เป็นอังกฤษว่า double-thick outer robe of a Buddhist monk. 

       พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สังฆาฏิ” เป็นอังกฤษว่า the outer robe of a Buddhist monk. 

       พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “สังฆาฏิ” เป็นอังกฤษว่า a yellow piece of cloth worn by a priest as protection against cold 

       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

       “สังฆาฏิ : (คำนาม) ผ้าคลุมกันหนาวที่ภิกษุใช้ทาบบนจีวร ตามปรกติใช้พับพาดบ่าซ้ายในพิธีสงฆ์. ( ป. ; ส. สํฆาฏิ ) ”

       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

       “สังฆาฏิ : ผ้าทาบ , ผ้าคลุมกันหนาวที่พระใช้ทาบบนจีวร เป็นผ้าผืนหนึ่งในสามผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร.”


       หนังสือวินัยมุข เล่ม 2 กัณฑ์ที่ 12 บริขารบริโภค พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนหนึ่งกล่าวถึง “สังฆาฏิ” ไว้ดังนี้ –

…………….

       … ในคราวเป็นลำดับมา ทรงอนุญาตผ้าสังฆาฏิเติมขึ้นอีกผืนหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูหนาว. มีเรื่องเล่าว่า ทรงลองห่มจีวรดูในหน้าหนาวจัด ในที่แจ้งชั้นหนึ่งพอชั่วยามหนึ่ง ตลอดราตรี 3 ชั้นจึงพอ จึงทรงอนุญาตสังฆาฏิ 2 ชั้นเพิ่มขึ้นอีกผืนหนึ่ง เข้ากับอุตราสงค์ชั้นเดียว จะได้เป็น 3 ชั้น 

       จำนวนจีวร 3 ผืนนี้คงที่ตลอดมา เรียก “ติจีวรํ” แปลทับศัพท์ว่าไตรจีวร คือจีวร 3 ผืน มีชื่อว่าสังฆาฏิ เป็นผ้าสำหรับใช้ห่มหนาวหรือซ้อนนอก 1 อุตราสงค์ เป็นผ้าห่ม 1 อันตรวาสก เป็นผ้านุ่ง 1

       สังฆาฏินั้นแม้เป็นของทรงอนุญาตขึ้นแล้ว แต่ใช้อย่างไรได้ความไม่ชัด ในพระสูตรกล่าวว่า พระสาวกปูถวายพระศาสดาเสด็จนั่งบ้าง ผทมบ้าง , ในพระวินัยกล่าวว่า ใช้ซ้อนห่มเข้าบ้าน แต่ในเวลาเข้าประชุมสงฆ์ในอารามใช้อย่างไรไม่กล่าวถึง ไม่ได้กล่าวว่าใช้พาดบ่า และมีภิกษุในเมืองเราเท่านั้นใช้พาดบ่า พระพม่า พระลังกาใช้ห่มซ้อนไปด้วยกันในเวลาเข้าบ้าน ในวัดไม่ได้ใช้


ที่มา: วินัยมุข เล่ม 2 หน้า 11-12 

…………….

อภิปราย :

       เป็นอันได้ความว่า “สังฆาฏิ” ก็คือผ้าห่มกันหนาว รูปร่างก็เหมือน “อุตราสงค์” หรือที่คำไทยเรียกกันว่า “จีวร” นั่นเอง จะพูดว่า “สังฆาฏิ” คือจีวรผืนที่สองก็ได้ กำหนดให้ภิกษุต้องมีไว้เป็นผืนหนึ่งในจำนวน “ไตรจีวร” สำหรับใช้ในฤดูที่มีอากาศหนาว 

       ในเมืองไทยโดยปกติอากาศไม่หนาวจัด ดังนั้นพระสงฆ์ในเมืองไทยจึงแทบจะไม่ได้ใช้ผ้าสังฆาฏิห่มกันหนาวตามวัตถุประสงค์ แต่จะไม่มีก็ไม่ได้เพราะพระวินัยกำหนดไว้ให้ต้องมีเป็น 1 ในบริขาร 8 ( อัฐบริขาร ) 

       เมื่อจำต้องมีและต้องนำติดตัวไว้เสมอตามพระวินัย จะห่มเหมือนจีวรก็เกินจำเป็น กิริยานำไปที่สะดวกที่สุดก็คือพาดบ่าไป ( ขอให้นึกถึงผ้าขาวม้าพาดบ่าของชาวบ้าน ) และเพื่อมิให้รุ่ยร่ายรุงรังก็จึงนิยมพับให้เรียบร้อย การพับตามยาวแล้วพาดบ่าน่าจะเป็นอาการที่รัดกุมดีกว่าวิธีอื่น และนี่เองน่าจะเป็นที่มาของการที่พระสงฆ์ไทยใช้สังฆาฏิพาดบ่าจนกลายเป็นแบบแผนการครองจีวรดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “ใช้พับพาดบ่าซ้ายในพิธีสงฆ์” 

       เรามองเห็นแต่พระท่านใช้สังฆาฏิพาดบ่า ถ้าไม่ศึกษาสืบค้นให้รู้ความเป็นจริงที่เป็นมา ก็อาจจะเข้าใจไปตามที่ตามองเห็นว่า “สังฆาฏิ” มีไว้สำหรับพาดบ่า

       แต่จะพาดบ่าไว้เพื่อประโยชน์อะไรก็คิดไม่ออก เมื่อคิดไม่ออกก็อาจจะคิดเลยต่อไปอีกว่า เครื่องนุ่งห่มของพระนี่ดูไปก็ไม่ค่อยมีเหตุผล 

       หลักพระธรรมวินัยเป็นอันมากที่คนสมัยใหม่มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ก็มีมูลแบบเดียวกันนี้ คือไม่ชอบศึกษาสืบค้น เอาแต่ความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง


ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2018/09/02/สังฆาฏิ-พาดบ่าไว้ทำไม-อ/ 


- จบ -