Saturday, November 27, 2021

กรรมวาจา

 

กรรมวาจา  



       กรรมวาจา ( อ่านว่า กำ-มะ-วา-จา ) ประกอบด้วยคำว่า กรรม + วาจา

(1) “กรรม” 

       บาลีเป็น “กมฺม” ( กำ-มะ ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ( กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” 

       “กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ ( ธาตุ = กระทำ ) + รมฺม ( รำ-มะ, ปัจจัย ) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย

       : กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม 

       “กมฺม” แปลว่า การกระทำ , สิ่งที่ทำ , การงาน ( the doing , deed , work ) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม” 


( 2 ) “วาจา” 

       รากศัพท์มาจาก วจฺ ( ธาตุ = พูด ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-( จฺ ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” ( วจฺ > วาจ ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

       : วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา ( word , saying , speech )


       กมฺม + วาจา = กมฺมวาจา แปลว่า “คำพูดในกิจของสงฆ์


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

       “กรรมวาจา : (คำนาม) คำประกาศกิจการในท่ามกลางสงฆ์. ( ส. กรฺม + วาจา = คำ; ป. กมฺม + วาจา )” 


       พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “กรรมวาจา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

       Kammavācā : the formal words of an act; text of a formal act, i.e. a motion (ญัตติ) together with one or three proclamations (อนุสาวนา) that may follow. 


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

       “กรรมวาจา : คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์ , คำสวดประกาศในการทำสังฆกรรม , คำประกาศในการดำเนินการประชุม แยกเป็น ญัตติ และ อนุสาวนา.”


ไขคำ :

       ( 1 ) ญัตติ : คำเผดียงสงฆ์ , การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน , วาจานัด , คำแจ้งหรือตั้งเรื่องเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ตกลง วินิจฉัย หรือดำเนินการ ; ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินหรือวินิจฉัย ญัตติก็จะตามมาด้วยการประกาศขอมติ เรียกว่า อนุสาวนา , ญัตติ และอนุสาวนา เป็นกรรมวาจา


       (2) อนุสาวนา : คำสวดประกาศต่อจากญัตติ , คำประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ , คำขอมติ ; อนุสาวนานี้เป็นกรรมวาจาที่ต่อจากญัตติ คือเมื่อตั้งญัตติแล้ว จึงประกาศขอมติ 


…………..

       คำสวด “กรรมวาจา” เป็นภาษาบาลี มีข้อความตามที่กำหนดไว้เป็นแบบแผนตามชนิดของสังฆกรรมนั้นๆ และมีแบบแผนในการสวดตามที่คณะสงฆ์กำหนด 


       ถ้ายังนึกไม่เห็นว่า “กรรมวาจา” คืออะไร ก็ขอให้นึกถึงเวลาไปร่วมพิธีอุปสมบท ( บวชพระ ) หรือในพิธีทอดกฐิน

       ตอนที่พระ 2 รูป ที่เรียกว่า “คู่สวด” สวดในท่ามกลางสงฆ์ นั่นแหละคือสวด “กรรมวาจา” 


…………..

       พึงสังเกตว่า “กรรมวาจา” มีความหมายต่างจาก “วจีกรรม” ที่แปลว่า “การกระทำทางวาจา” คือ การพูด 


- จบ -