Saturday, April 9, 2022

สมถขันธกะ : อุพพาหิกวิธี

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สมถขันธกะ : อุพพาหิกวิธี
 



อุพพาหิกวิธี   


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 675 )  


       372. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นและไม่ทราบความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น

       เราอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วย อุพพาหิกวิธี /////  

       ภิกษุผู้ ประกอบด้วยองค์คุณ 10 ประการ สงฆ์พึงสมมติด้วย อุพพาหิกวิธี 



* * * องค์คุณ 10 ประการ 

       1. เป็นผู้มีศีล สำรวมใน ปาติโมกข์สังวร /////  ถึงพร้อมด้วย อาจาระและโคจร /////  มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย 


       2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด ไพเราะ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ย่อมสรรเสริญพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ธรรมทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นอันเธอสดับมาก ทรงไว้ สั่งสมด้วยวาจา เข้าไปเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยทิฏฐิ 


       3. จำ ปาติโมกข์ /////  ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี สวดดี วินิจฉัยถูกต้องโดยสูตร โดย อนุพยัญชนะ /////  


       4. เป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ไม่คลอนแคลน 


       5. เป็นผู้อาจชี้แจงให้คู่ต่อสู้ใน อธิกรณ์ /////  ยินยอม เข้าใจ เพ่งเห็น เลื่อมใส


       6. เป็นผู้ฉลาดเพื่อยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ 


       7. รู้อธิกรณ์ 


       8. รู้เหตุเกิดอธิกรณ์ 


       9. รู้ความระงับแห่งอธิกรณ์ 


       10. รู้ทางระงับอธิกรณ์ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 10 นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี 



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 676 )  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้

       พึงขอร้องภิกษุก่อน 

       ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย กรรมวาจา ว่าดังนี้  


* * * กรรมวาจาสมมติ 

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  

       เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้น และไม่ทราบอรรถแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น  

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี  

       นี้เป็นญัตติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้น และไม่ทราบความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น 

       สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี 

       การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง  

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 


       ภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ 



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 677 )  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้นด้วยอุพพาหิกวิธีนี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว 

       ระงับด้วยอะไร  

       ด้วย สัมมุขาวินัย /////  

       ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง 

       มีความพร้อมหน้าธรรม 

       ความพร้อมหน้าวินัย  

       ความพร้อมหน้าบุคคล … 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็น ปาจิตตีย์ /////  ที่รื้อฟื้น



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 678 )  

       373. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ ในบริษัทนั้นพึงมีภิกษุ ธรรมกถึก /////  เธอจำสูตรไม่ได้เลย จำ วิภังค์ ///// แห่งสูตร ก็ไม่ได้ เธอไม่ได้สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ

       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยคณะญัตติ  ว่าดังนี้


* * * กรรมวาจาคณะญัตติ 

       ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้ เป็นธรรมกถึก เธอจำสูตรไม่ได้เลย จำวิภังค์แห่งสูตรก็ไม่ได้ เธอไม่ได้สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ  

       ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงขับภิกษุมีชื่อนี้ให้ออกไป แล้วที่เหลือพึงระงับอธิกรณ์นี้

 
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นขับภิกษุนั้นออกไปแล้ว สามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว 

       ระงับด้วยอะไร 

       ด้วยสัมมุขาวินัย  

       ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง  

       มีความพร้อมหน้าธรรม 

       ความพร้อมหน้าวินัย  

       ความพร้อมหน้าบุคคล … 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็นปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น 



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 679 )  


       374. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ ในบริษัทนั้นพึงมีภิกษุธรรมกถึก เธอจำสูตรได้ แต่จำวิภังค์แห่งสูตรไม่ได้เลย เธอไม่สังเกตใจความ ย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ 

       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยคณะญัตติ ว่าดังนี้ 


* * * กรรมวาจาคณะญัตติ 

       ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า 

       ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้ เป็นธรรมกถึก เธอจำสูตรได้ แต่จำวิภังค์แห่งสูตรไม่ได้เลย เธอไม่สังเกตใจความย่อมค้านใจความตามเค้าพยัญชนะ  

       ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงขับภิกษุมีชื่อนี้ให้ออกไป แล้วที่เหลือพึงระงับอธิกรณ์นี้ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นขับภิกษุนั้นออกไปแล้ว สามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว  

       ระงับด้วยอะไร 

       ด้วยสัมมุขาวินัย 

       ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง 

       มีความพร้อมหน้าธรรม 

       ความพร้อมหน้าวินัย 

       ความพร้อมหน้าบุคคล … 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น เป็นปาจิตตีย์ ที่รื้อฟื้นท



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 680 )  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้นด้วยอุพพาหิกวิธี พวกเธอพึงมอบอธิกรณ์นั้นแก่สงฆ์ว่า 

       ท่านเจ้าข้า พวกข้าพเจ้าไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ขอสงฆ์นั่นแหละจงระงับอธิกรณ์นี้ 



       375. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วย เยภุยยสิกา /////  พึงสมมติภิกษุ ผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 5 ให้เป็นผู้ให้จับสลาก คือ 

       1. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ 

       2. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง 

       3. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย 

       4. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว 

       5. พึงรู้จักสลากที่จับแล้วและยังไม่จับ 


       376. ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ 

       พึงขอร้องภิกษุก่อน  

       ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้ 


* * * กรรมวาจาสมมติ

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก 

       นี้เป็นญัตติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง 

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 


       ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติแล้ว ให้เป็นผู้ให้จับสลาก ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง 

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้  


       ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายจับสลาก 

       ภิกษุพวกธรรมวาทีมากกว่า ย่อมกล่าวฉันใด พึงระงับอธิกรณ์นั้น ฉันนั้น นี้เรียกว่า อธิกรณ์ระงับแล้ว 

       ระงับด้วยอะไร 

       ด้วยสัมมุขาวินัย และเยภุยยสิกา 

       ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง 

       มีความพร้อมหน้าสงฆ์ 

       ความพร้อมหน้าธรรม 

       ความพร้อมหน้าวินัย 

       ความพร้อมหน้าบุคคล 

       ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร 

       คือ ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าไร ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน นำฉันทะของผู้ควรฉันทะมา ผู้อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน นี้ชื่อว่าความพร้อมหน้าสงฆ์ในสัมมุขาวินัยนั้น 

       ก็ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร 

       คือ อธิกรณ์นั้นระงับโดยธรรม โดยวินัย และโดย สัตถุศาสน์ ใด /////  นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ในสัมมุขาวินัยนั้น

       ก็ความพร้อมหน้าบุคคล ในสัมมุขาวินัยนั้นอย่างไร 

       คือโจทก์และจำเลยทั้งสอง เป็นคู่ต่อสู้ในคดีอยู่พร้อมหน้ากัน

       นี้ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล ในสัมมุขาวินัยนั้น 


       ก็ในเยภุยยสิกานั้นมีอะไรบ้าง 

       มีกิริยา

       ความกระทำ

       ความเข้าไป 

       ความเข้าไปเฉพาะ 

       ความรับรอง

       ความไม่คัดค้านกรรมในเยภุยยสิกาอันใด นี้มีในเยภุยยสิกานั้น


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น 

       ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ ที่ติเตียน 



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 6 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 4 : สมถขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : สมถขันธกะ : อุพพาหิกวิธี 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 784 , 785 , 786 , 787 , 788 , 789


- จบ -