Wednesday, April 6, 2022

เถระ

 

เถระ


       เถระ คือ พระผู้ใหญ่ คือพระที่มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไปตามพระวินัย   


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

คำถาม - "พระเถระ คือพระภิกษุผู้ใหญ่ที่มีอายุการบวชมากกว่า 10 พรรษาขึ้นไป ถ้ามีพรรษามากกว่า 20 เรียกว่า พระมหาเถระ หน้าที่หลักของพระเถระคือเป็นผู้รักษาพระธรรมวินัย เป็นผู้ให้นิสัย 4 แก่พระภิกษุ บวชใหม่ เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสอนให้กว้างไกล เป็นผู้บรรลุธรรม เป็นผู้นำผองชน เจริญภาวนา เป็นผู้สร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์"

       จากเนื้อความที่ว่ามาอยากทราบว่า คำว่า เถระ มีความเป็นมาอย่างไร ที่เรียกว่าเถระเพราะอะไร ใครที่ควรเรียกว่า เถระ พรรษาเป็นตัวบงบอกถึงความเป็นเถระหรือไม่ จริงๆ แล้วอย่างไรจึงเรียกว่า พระเถระ ขอความกรุณาท่านผู้รู้ด้วย อยากทราบ


คำตอบ - โดยความหมายแล้ว เถระ หมายถึง ผู้มั่นคงด้วยคุณความดี สูงสุดแสดงถึงความเป็น พระอรหันต์ครับ 

       ( เล่มที่ 43 ) พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 - หน้าที่ 76 

       "บุคคล ไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะมีผมหงอกบนศีรษะ ผู้มีวัยแก่รอบแล้วนั้น เราเรียกว่า แก่เปล่า ส่วนผู้ใด มีสัจจะ ( รู้แจ้งอริยสัจจ์ 4 ) ธรรมะ ( โลกุตตรธรรม ) อหิงสา ( ความไม่เบียดเบียน ) สัญญมะ ( ศีล ) และทมะ ( ความสำรวมอินทรีย์ ) ผู้นั้นมีมลทินอันคายแล้ว ผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า "เป็นเถระ" 

       สำหรับพระภิกษุที่อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ก็มีการนับตามอายุพรรษาที่ได้อุปสมบท และมีการเคารพในพระภิกษุผู้อุปสมบทก่อนซึ่งมีพรรษาแก่กว่า 

       ( เล่มที่ 24 ) พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 115 

       ภิกษุผู้มีพรรษาไม่เต็ม 5 ชื่อว่า ผู้ใหม่ ตั้งแต่พรรษา 5 ไป ชื่อว่า มัชฌิมะ ตั้งแต่พรรษา 10 ไป ชื่อว่า เถระ 

       อีกนัยหนึ่ง ผู้มีพรรษา 10 ยังไม่บริบูรณ์ ชื่อว่า ผู้ใหม่ ตั้งแต่พรรษา 10 ไป ชื่อว่า มัชฌิมะ ตั้งแต่พรรษา 20 ไป ชื่อว่า เถระ




- จบ -