Sunday, April 3, 2022

อิสสา


 อิสสา


ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 3 อย่าง คือ

* * * โทสะ เป็นธรรมชาติที่ประทุษร้ายหรือความโกรธ 

* * * อิสสา เป็นธรรมชาติที่ไม่พอใจในคุณสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่นหรือความอิจฉา 

* * * มัจฉริยะ เป็นธรรมชาติที่หวงแหนในสมบัติและคุณความดีของตนหรือความตระหนี่ 

* * * กุกกุจจะ เป็นธรรมชาติที่รำคาญใจในความชั่วที่ได้ทำแล้วและรำคาญใจหรือร้อนใจทียังไม่ได้ทำความดี 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

อิจฉา ไม่ได้เพี้ยนมาจาก “อิสสา”   /  ทำความรู้จักกับ “อิจฉา” และ “อิสสา” ในบาลี 


       ( 1 ) “อิจฉา” บาลีเขียน “อิจฺฉา” ( มีจุดใต้ จ ) อ่านว่า อิด-ฉา รากศัพท์มาจาก อิสฺ ( ธาตุ = ปรารถนา , อยาก ) + ณฺย ปัจจัย ( ปัจจัยตัวนี้ลงในคำใด ทำให้คำนั้นเป็นภาวนามหรืออาการนาม มักขึ้นต้นคำแปลว่า “ความ- ,” หรือ “การ-” ) , ลบ ณฺ ( ณฺย > ย ) , แปลง ย กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ ( อิสฺ + ย = อิสฺย > อิจฺฉ ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์


: อิสฺ + ณฺย = อิสฺณฺย > อิสฺย > อิจฺฉ + อา = อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อยากได้” หรือ “ความอยากได้” หมายถึง ความปรารถนา , ความประสงค์ , ความต้องการ 


พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิจฺฉา” ว่า wish , longing , desire ( ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้ ) 


       ( 2 ) “อิสสา” 

       บาลีเขียน “อิสฺสา” ( มีจุดใต้ ส ) อ่านว่า อิด-สา รากศัพท์มาจาก อิสฺสฺ ( ธาตุ = ไม่พอใจ ) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์


: อิสฺสฺ + อ = อิสฺส + อา = อิสฺสา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น”

       คำว่า “อิสฺสา” นี้ เราไม่คุ้นในภาษาไทย จึงควรขยายความอีกเล็กน้อย กล่าวคือ บทวิเคราะห์ ( คือการกระจายคำเพื่อหาความหมาย ) ของคำว่า “อิสฺสา” ท่านแสดงเป็นสูตรไว้ว่า “อิสฺสติ สนฺเตสุปิ คุเณสุ วจสา มนสา วา โทสาโรปนํ กโรตีติ อิสฺสา” แปลเต็มความว่า “กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น คือทำการยกความผิด ( ข้อบกพร่อง ข้อเสียหายของผู้อื่น ) ด้วยการพูด หรือด้วยการคิด”


ขยายความว่า : เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับผลดีจะเนื่องด้วยเขามีคุณความดีหรือด้วยเหตุอย่างใดๆ ก็ตาม ก็ไม่พอใจ ความไม่พอใจนั้นอาจแสดงออกมาเป็นคำพูด หรือแม้ไม่พูดออกมาก็ครุ่นคิดขุ่นมัวอยู่ในใจตัวเอง นี่คือ “อิสฺสา” 


       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสฺสา” ว่า jealousy , anger , envy , ill-will ( ความอิจฉา , ความโกรธเคือง , ความริษยา , เจตนาร้าย ) 


       คำว่า “อิสฺสา” นี้ เราใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ริษยา” 


       คราวนี้มาดูความหมายของคำเหล่านี้ที่เราเอาใช้ในภาษาไทย 


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

       ( 1 ) อิจฉา : ( คำกริยา ) เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง ( มีความหมายเบากว่า ริษยา ) ( ป. , ส. อิจฺฉา ว่า ความอยาก, ความต้องการ, ความปรารถนา ) 

       ( 2 ) อิสสา : ( คำนาม ) ความหึงหวง , ความชิงชัง  ( ป. ; ส. อีรฺษฺยา ) 

       ( 3 ) ริษยา : ( คำกริยา ) อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี , เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้ ( ส. อีรฺษฺยา; ป. อิสฺสา ) 

       โปรดสังเกตเป็นพิเศษที่คำว่า “อิจฉา” ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นความหมายของ “ริษยา” และโปรดอย่าลืมว่า “ริษยา” ก็คือ “อิสฺสา” ในบาลี 


       สรุปว่า ในบาลีมีทั้ง “อิจฺฉา” ( ความปรารถนา , ความประสงค์ , ความอยากได้ – wish , longing , desire ) และ “อิสฺสา” ( คือ “ริษยา” ความโกรธเคือง , ความริษยา , เจตนาร้าย – jealousy , anger , envy , ill-will ) และคำบาลีเมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย บางคำความหมายเคลื่อนที่หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม 


อภิปราย :

       มีผู้แสดงความเห็น ( ซึ่งอาจถือว่าเป็นทฤษฎี ) ว่า คำว่า “อิสฺสา” ในบาลีนี้คนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยออกเสียงถูกต้อง คือออกเสียงว่า อิด-สา ( อย่าลืมว่า “อิสฺสา” คือ “ริษยา” : อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี , เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้ – jealousy , anger , envy , ill-will ) 

       แต่คำว่า “อิสฺสา” ในบาลีนี้ คนในแถบภาคกลางของไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “อิจฉา” ( รูปและเสียงไปตรงกับ “อิจฺฉา” ความปรารถนา , ความประสงค์ , ความอยากได้ – wish , longing , desire ) 

       ดังนั้น “อิจฉา” ในภาษาไทยจึงหมายถึง “เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง” โดยเฉพาะความหมายที่ว่า “เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ” นั้น เป็นความหมายของ “อิสฺสา” ในบาลีตรงๆ


       สรุปทฤษฎีว่า “อิจฉา” ต้องหมายถึง “เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ” อันเป็นความหมายของ “อิสสา” ก็เพราะ “อิจฉา” คือ “อิสสา” ที่คนภาคกลางออกเสียงเพี้ยนนั่นเอง 


       ถ้าทฤษฎีนี้ถูกต้อง : คำว่า “อิจฉา” คนภาคกลางของไทยออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า “อิสฺสา” ในบาลี ดังนั้น ความหมายของ “อิจฉา” ในภาษาไทยจึงเป็นความหมายของ “อิสฺสา” ในบาลี 


       ก็จะต้องมีคำตอบสำหรับคำที่จะยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ — 

       – คำว่า “โมโห” ในบาลีหมายถึง ความหลง แต่ในภาษาไทยหมายถึง ความโกรธ 

       – คำว่า “สงสาร” ในบาลีหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด แต่ในภาษาไทยหมายถึง รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น 

       – คำว่า “เวทนา” ในบาลีหมายถึง “เสวยอารมณ์” คือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ แต่ในภาษาไทยหมายถึง สังเวชสลดใจ 

       ถามว่า คำว่า “โมโห” “สงสาร” “เวทนา” คนภาคกลางของไทยออกเสียงเพี้ยนมาจากคำอะไรในบาลี? 


- จบ -