Monday, April 18, 2022

อุปธิ

 

อุปธิ



อุปธิ

       หมายถึง กิเลสและกรรม จัดเป็นกิเลสชนิดหยาบที่สุดในกิเลส 3 ระดับ คือ 

* * * อนุสัยกิเลส ( Latent Defilements ) กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน 

* * * ปริยุฏฐานกิเลส ( Internally Active Defilements ) กิเลสอย่างกลางที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทางความคิด ( แต่ยังเก็บไว้ในใจ ) กิเลสอย่างกลางนี้คือ กิเลสประเภทนิวรณ์ ( hindrances ) 

* * * วีติกกมกิเลส ( Externally Active Defilements ) กิเลสอย่างหยาบคือกิเลสที่ทำให้สัตว์สร้างกรรมขึ้นมาทางกายและวาจา ซึ่งได้แก่ อุปธิ ทั้งสี่ คือ 


       1. ขันธูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 

       2. ตัณหูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากความทะยานอยาก 

       3. อภิสังขารูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากปรุงแต่งทางความคิด 

       4. กามคุณูปธิ กิเลสเป็นเหตุสร้างกรรมจากความหวงแหนในกามคุณ 



       กามคุณูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉาน เช่นเมื่อสัตว์เดรัจฉานติดใจในรสชาติแห่งอาหารก็อยากกินอีก ทำให้รู้จักแสวงหา กักตุน หวงแหน แย่งชิง 


       อภิสังขารูปธิ เป็นกิเลสที่มีในสัตว์ที่มีภูมิปัญญา เช่นมนุษย์และเทวดา ไม่มีในสัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีภูมิปัญญา  /  อภิสังขาร แปลว่า ปรุงแต่งเฉพาะหมายถึง การจินตนาการสมมุติสิ่งต่างๆให้ความเชื่อที่ใช้ร่วมกัน เช่น เงิน ประเทศชาติ อุดมการณ์ทางการเมือง เราไม่สามารถตกลงราคากับสัตว์เลี้ยงได้ด้วยเงิน เช่นจ่ายไปทำงาน เราไม่สามารถให้สัตว์พลีชีพหรือทุมเทเพื่อสถาบันทางการเมืองเช่นประเทศชาติ ศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองเช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนได้ เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีภูมิปัญญา 


       ตัณหูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้ในสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่การแก้ทุกข์ เช่น หิวต้องหาอะไรกิน ง่วงต้องนอน มีความต้องการทางเพศก็ต้องการระบายความใคร่ ต้องการถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็หาที่ถ่าย เหนื่อยก็พัก กลัวก็หนี เป็นต้น 


       ขันธูปธิ เป็นกิเลสที่มีแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่การยึดมั่นในขันธ์ เช่นสัตว์เดรัจฉานยึดมั่นในฝูง ในจ่าฝูง ในคู่ครอง ในลูก ในถิ่นที่อยู่ จึงทำการปกป้องหวงแหนต่อสู้ข้าศึกที่เข้ามาทำอันตราย เป็นต้น 



* * * กามคุณูปธิ ตัณหูปธิ ขันธูปธิ ทั้งอย่างนี้มีทั้งมนุษย์ เทวดา แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งปวง  


* * * อภิสังขารูปธิ ไม่มีในสัตว์เดรัจฉาน มีแต่ในมนุษย์และเทวดา และสัตว์ที่มีภูมิปัญญาเท่านั้น 



       อุปธิ 4 เป็นเหตุให้เกิด อุปาทาน 4  

       กามคุณูปธิ เป็นเหตุให้เกิด กามุปาทาน ( เมื่อยินดีในกามก็ยึดติดในกามนั้น ) 

       อภิสังขารูปธิ เป็นเหตุให้เกิด ทิฏฐุปาทาน ( เมื่อเกิดความเชื่อก็ยึดติดในความเชื่อนั้น ) 

       ตัณหูปธิ เป็นเหตุให้เกิด สีลัพพัตตุปาทาน ( เมื่อแก้ทุกข์แต่ไม่รู้ในทุกข์ จึงแก้ทุกข์ทางศีลธรรมทางจริยธรรมด้วยความงมงายไม่รู้จริง ) 

       ขันธูปธิ เป็นเหตุให้เกิด อัตตวาทุปาทาน ( เมื่อยึดติดในขันธ์ของตนเอง ขันธ์ของผู้อื่น จึงเกิดอัตตาว่านี่คือตัวตน ของตนขึ้น )     


- จบ -