Saturday, April 9, 2022

ปาจิตตีย์

 

ปาจิตตีย์ 



ปาจิตตีย์ ( อ่านว่า ปา-จิด-ตี )  

       เป็นชื่ออาบัติกองหนึ่ง ในเจ็ดกองของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คำนี้แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตก เป็นได้ทั้งชื่ออาบัติ และชื่อสิกขาบท ท่านแบ่งไว้เป็นสองหมวด เรียกว่า นิสสัคคัยปาจิตตีย์ พวกหนึ่ง สุทธิก ปาจิตตีย์ พวกหนึ่ง

* * * นิสสัคคัยปาจิตตีย์ หมายความว่า ต้องอาบัติชื่อนี้ เพราะมีวัตถุเป็นตัวการคือ ทำให้สละสิ่งของคือ สิ่งใดเป็นเหตุจึงต้องอาบัติ ทำให้สละสิ่งนั้น 

       เป็นชื่อแห่งสิกขาบท แปลว่า ปรับโทษ ชื่อ นิสสัคคัยปาจิตตีย์ 

       เวลาจะแสดงอาบัติต้องสละสิ่งนั้นก่อน จึงจะแสดงโทษนั้นได้ เช่น ต้องอาบัติเพราะทรงอดิเรกจีวรเกิน 10 วัน เวลาแสดงอาบัตินี้ ต้องสละอดิเรกจีวรที่ทรงไว้เกิน 10 วันนั้นก่อน จึงแสดงอาบัตินั้นได้ 


* * * สุทธิกปาจิตตีย์ คือ ปาจิตตีย์ล้วน ไม่มีสิ่งของอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัติคือ ทำผิดอย่างใดตรงกับที่ห้าม ก็ต้องอาบัตินี้

       เวลาแสดงอาบัติก็สารภาพตรง ๆ ตามที่ผิด เช่น ต้องอาบัติเพราะพูดเท็จ ก็สารภาพตามตรงว่าพูดเท็จ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ปาจิตตีย์   


       ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”
 

       ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ – 

       ( 1 ) ปาราชิก 4 สิกขาบท 

       ( 2 ) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท

       ( 3 ) อนิยต 2 สิกขาบท 

       ( 4 ) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท ( เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์ ) 

       ( 5 ) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท ( เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์ ) 

       ( 6 ) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท 

       ( 7 ) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท 

       ( 8 ) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท 

       รวม 227 สิกขาบท 


       “ปาจิตตีย์” เป็น 92 ใน 227 


       คำว่า “ปาจิตตีย์” อ่านว่า ปา-จิด-ตี เขียนแบบบาลีเป็น “ปาจิตฺติย” อ่านว่า ปา-จิด-ติ-ยะ


       คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 598 แสดงที่มาของคำว่า “ปาจิตฺติย” ไว้ดังนี้ –

       ปาเตติ กุสลํ ธมฺมนฺติ สญฺจิจฺจ อาปชฺชนฺตสฺส กุสลธมฺมสงฺขาตํ กุสลจิตฺตํ ปาเตติ ตสฺมา ปาเตติ จิตฺตนฺติ ปาจิตฺติยํ

       แปลว่า –

       บาทคาถาว่า ปาเตติ กุสลํ ธมฺมํ ( ยังกุศลธรรมให้ตกไป ) หมายความว่า ความละเมิดคือการกระทำผิดต่ออาบัติหมวดนี้นั้น ยังกุศลจิตกล่าวคือกุศลธรรมของผู้แกล้งต้องอาบัติให้ตกไป เหตุนั้น จึงชื่อว่า “ปาจิตติยะ” เพราะ “ปาเตติ จิตฺตํ = ยังจิตให้ตกไป” 


…………..

       ได้ความตามหลักฐานนี้ว่า –

       “ปา” ตัดมาจากคำว่า “ปาเตติ” แปลว่า “ยัง-ให้ตกไป” 

       “จิตฺติย” แยกศัพท์เป็น จิตฺต + อิย ปัจจัย 

       “จิตฺต” มาจากคำว่า “จิตฺตํ” แปลว่า “จิต” ซึ่งหมายถึงกุศลธรรมที่มีอยู่ในใจ 

       “ปาเตติ จิตฺตํ = ยังจิตให้ตกไป” : ปา-( เตติ ) + จิตฺต + อิย = ปาจิตฺติย แปลตามศัพท์ว่า “กรรมอันยัง ( กุศล ) จิตให้ตกไป” 

       บาลี “ปาจิตฺติย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาจิตตีย์” 



ขยายความ :

       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปาจิตตีย์” ไว้ดังนี้ – 


…………..

       ปาจิตตีย์ : “การละเมิดอันยังกุศลให้ตก” , ชื่ออาบัติจำพวกหนึ่ง ในจำพวกอาบัติเบา ( ลหุกาบัติ ) พ้นได้ด้วยการแสดง; เป็นชื่อสิกขาบท ได้แก่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 และสุทธิกปาจิตตีย์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า ปาจิตตีย์ อีก 92 ภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบท 122 ข้อเหล่านี้ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ เช่น ภิกษุพูดปด ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ว่ายน้ำเล่น เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ 


…………..

       ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท แบ่งเป็น 9 หมวด ( เรียกว่า “วรรค” ) ดังนี้ – 

       ( 1 ) มุสาวาทวรรค 10 สิกขาบท

       ( 2 ) ภูตคามวรรค 10 สิกขาบท  

       ( 3 ) โอวาทวรรค 10 สิกขาบท 

       ( 4 ) โภชนวรรค 10 สิกขาบท 

       ( 5 ) อเจลกวรรค 10 สิกขาบท 

       ( 6 ) สุราปานวรรค 10 สิกขาบท 

       ( 7 ) สัปปาณวรรค 10 สิกขาบท 

       ( 8 ) สหธรรมิกวรรค 12 สิกขาบท

       ( 9 ) รตนวรรค 10 สิกขาบท 


- จบ -