Thursday, April 21, 2022

สรภัญญะ


สรภัญญะ  



       สรภัญญะ ( คำอ่านภาษาไทย: /สะระพันยะ/ หรือ /สอระพันยะ/ ) คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา 

       การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร ) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วไป และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียว่า "บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ" 

       นอกจากบทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ทำนองสรภัญญะยังใช้สวดคาถาบทอื่นอีก เช่น บทแปลคาถาพาหุงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มว่า "ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ"   


ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/สรภัญญะ   


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

สรภัญญะ

       ไม่ใช่ร้องเพลง

       อ่านว่า สะ-ระ-พัน-ยะ ก็ได้ สอ-ระ-พัน-ยะ ก็ได้ 


       ( ตามพจนานุกรมฯ )

       ประกอบด้วยคำว่า สร + ภัญญะ 

(๑) “สร” 

       บาลีอ่านว่า สะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

       (1) สรฺ (ธาตุ = แล่นไป) + อ (อะ) ปัจจัย

       : สรฺ + อ = สร แปลตามศัพท์ว่า “เสียงที่แล่นไปสู่ผู้ฟัง” 


       (2) สรฺ (ธาตุ = ออกเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย

       : สรฺ + อ = สร แปลตามศัพท์ว่า “เสียงอันเขาเปล่งออกไป” 

       “สร” (ปุงลิงค์) ในที่นี้ หมายถึง เสียง , เสียงสูงต่ำ , สำเนียง , การออกเสียง ( sound , voice , intonation , accent )


ขยายความ :

       “สร” ตามที่แสดงรากศัพท์นี้เป็น “สร” ที่ประสงค์ในที่นี้ คือที่หมายถึง “เสียง”

       แต่ “สร” ในบาลียังมีความหมายอย่างอื่นอีก กล่าวคือ – 

       ๑ สร = สระ ( ที่คู่กับพยัญชนะ ) แปลตามศัพท์ว่า “อักษรที่เป็นไปเองได้โดยไม่ต้องอาศัยอักษรอื่น” หรือ “อักษรเป็นเครื่องเป็นไปได้แห่งอักษรอื่นๆ” ( มีสระ พยัญชนะจึงออกเสียงได้ ) 


       ๒ สร = ลูกศร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” หรือ “สิ่งอันเขายิงไป” ( ฝรั่งว่า “สร” เป็นชื่อของไม้อ้อ [ the reed , saccharum ] อาวุธชนิดนี้แต่เดิมทำด้วยไม้อ้อ จึงได้ชื่อว่า “สร” ) 


       ๓ สร = สระน้ำ , บึง , หนองน้ำธรรมชาติ แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งน้ำที่เป็นไปตามปกติ” 


       ๔ นอกจากนี้ “สร” ยังแปลว่า ระลึกถึง , ไป , เคลื่อนไหว , ตามไป , ของเหลว , การไหล 


       “สร” เป็นคำ “พ้องรูป” ในภาษาบาลี คือเขียนเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน 


(๒) “ภัญญะ” 

       เขียนแบบบาลีเป็น “ภญฺญ” อ่านว่า พัน-ยะ รากศัพท์มาจาก ภณฺ ( ธาตุ = กล่าว , ส่งเสียง ) + ณฺย ปัจจัย , ลบ ณฺ , แปลง ณ ที่สุดธาตุกับ ย ( ที่เหลือจาก ณฺย ลบ ณฺ ) เป็น ญฺญ 

       : ภณฺ + ณฺย = ภณณฺย > ภณฺย > ภญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าว” “การสวด” หมายถึง การท่อง, การสวด ( reciting , preaching ) 

       สร + ภญฺญ = สรภญฺญ ( สะ-ระ-พัน-ยะ ) แปลว่า “การสวดด้วยเสียง” หมายถึง การสวดทำนอง , การสวดสรภัญญะ ( intoning , a particular mode of reciting ) 

       “สรภญฺญ” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “สรภัญญะ” 

       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

       “สรภัญญะ : ( คำนาม ) ทํานองสําหรับสวดคําที่เป็นฉันท์ , ทํานองขับร้องทํานองหนึ่ง , เช่น สวดสรภัญญะ ทำนองสรภัญญะ. (ป.).” 



ขยายความ :

       ในพระวินัยปิฎก มีเรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ชาวบ้านติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามไว้ว่า – 

………….. 

       น ภิกฺขเว อายตเกน คีตสฺสเรน ธมฺโม คายิตพฺโพ

       โย คาเยยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ  

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ 


ที่มา: ขุททกวัตถุขันธกะ จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 20


………….. 

       เนื่องจากทรงห้ามการสวด “คีตสฺสร = ทำนองยาวคล้ายเพลงขับ” ซึ่งหมายถึงสวดเหมือนร้องเพลง ภิกษุทั้งหลายจึงไม่กล้าสวดแบบ “สรภัญญะ” แต่ปรากฏว่าทรงอนุญาตให้สวดเป็น “สรภัญญะ” ได้ ดังความในพระวินัยปิฎกว่า – 


………….. 

       เตน โข ปน สมเยน ภิกฺขู สรภญฺเญ กุกฺกุจฺจายนฺติ ฯ 

       อถโข เต ภิกฺขู ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ ฯ 

       อนุชานามิ ภิกฺขเว สรภญฺญนฺติ ฯ 

       สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรังเกียจในการสวดสรภัญญะ 

       จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค 

       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดเป็นทำนองสรภัญญะได้ 


ที่มา: ขุททกวัตถุขันธกะ จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 21 


………….. 

       อรรถกถาขยายความว่า “สรภัญญะ” มีระเบียบวิธีสวดที่เรียกว่า “วัตร”ถึง 32 แบบ ให้ชื่อไว้เป็นตัวอย่าง 3 แบบ คือ –

       ตรังควัตร ทำนองดังคลื่น 

       โทหกวัตร ทำนองดังรีดนมโค 

       คลิวัตร ทำนองดังของเลื่อน 


       คำแปลชื่อ “วัตร” หรือแบบแผนการสวด “สรภัญญะ” นี้ เป็นของท่านผู้แปลคัมภีร์อรรถกถา คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 336 ฉบับแปลคือ จตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลวรรควรรณา หน้า 496 

       ปักป้ายบอกทางไว้เพื่อให้นักเรียนบาลีช่วยกันตามไปศึกษาว่า ทำนอง “สรภัญญะ” ทั้ง 32 แบบนั้นมีอะไรบ้าง และชื่อทำนองตามตัวอย่างที่ท่านแปลไว้ “ตรังควัตร ทำนองดังคลื่น -โทหกวัตร ทำนองดังรีดนมโค – คลิวัตร ทำนองดังของเลื่อน” นั้น คือสวดแบบไหน 

       อย่างไรก็ตาม อรรถกถาก็ย้ำว่า ไม่ว่าจะสวดด้วยทำนองแบบไหน หลักสำคัญคือ ต้องไม่ทำให้ตัวบทเกิดความคลาดเคลื่อน และที่สำคัญต้องเหมาะแก่สมณสารูป


- จบ -