Sunday, April 3, 2022

อัพยากฤต

 

อัพยากฤต 



       อัพยากฤต ( อ่านว่า อับ-พะ-ยา-กฺริด ) - น. กลาง ๆ ระหว่างกุศลกับอกุศล คือไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล ในความว่า ธรรมที่เป็นอัพยากฤต. (ส.; ป. อพฺยากต).  


ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.xn--q3c2aquc2kd.com/define/อัพยากฤต    


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

อัพยากตธรรม 

       ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง

       อ่านว่า อับ-พะ-ยา-กะ-ตะ-ทำ 

       แยกศัพท์เป็น อัพยากต + ธรรม 

       ( 1 ) “อัพยากต” เขียนแบบบาลีเป็น “อพฺยากต” อีกรูปหนึ่งเป็น “อวฺยากต” รากศัพท์เดิมมาจาก น + วิ + อา + กต 

( ก ) วิ ( คำอุปสรรค = วิเศษ , พิเศษ , แจ้ง , ต่าง ) + อา ( คำอุปสรรค = ทั่วไป , ยิ่ง , กลับความ ) + กรฺ ( ธาตุ = ทำ ) + ต ปัจจัย , แผลง อิ ที่ วิ เป็น ย ( วิ > วฺย ) , ลบ รฺ ที่สุดธาตุ ( กรฺ > ก ) 


       : วิ > วฺย + อา + กรฺ = วฺยากรฺ + ต = วฺยากรต > วฺยากต แปลตามศัพท์ว่า “ทำให้กระจ่างแจ้งทั่วถึง”

       “วฺยากต” เป็นศัพท์กิริยากิตก์และใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย มีความหมายดังนี้ – 

       ( 1 ) ตอบ , อธิบาย , ประกาศ , ตัดสิน ( answered , explained , declared , decided ) 

       ( 2 ) ทำนาย ( predicted ) 

       ( 3 ) ตกลง , ตกลงใจ ( settled , determined ) 

( ข ) น ( นิบาตบอกความปฏิเสธ = ไม่, ไม่ใช่ ) + วฺยากต แปลง น เป็น อ ตามกฎไวยากรณ์บาลี : 

       ( 1 ) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อ” ( อะ ) 

       ( 2 ) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” ( อะ-นะ ) 

       ในที่นี้ “วฺยากต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อ”


       : น + วฺยากต = นวฺยากต > อวฺยากต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ได้ทำให้กระจ่างแจ้งทั่วถึง” 

       “อวฺยากต” แปลง วฺ เป็น พฺ ได้อีกรูปหนึ่งเป็น “อพฺยากต” ( อับ-เพีย-กะ-ตะ ) 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อพฺยากต” ว่า unexplained , undecided , not declared , indeterminate ( มิได้อธิบาย , มิได้ตัดสินใจ , มิได้ประกาศ , ไม่กำหนดหมาย ) 

       “อพฺยากต” เขียนแบบไทยเป็น “อัพยากต” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็นรูปคำสันสกฤตว่า “อัพยากฤต” ( อับ-พะ-ยา-กฺริด ) บอกไว้ว่า – 

       “อัพยากฤต : ( คำนาม ) กลาง ๆ ระหว่างกุศลกับอกุศล คือไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล ในความว่า ธรรมที่เป็นอัพยากฤต. ( ส. ; ป. อพฺยากต )” 


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า – 

       “อัพยากฤต : “ซึ่งท่านไม่พยากรณ์” , มิได้บอกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ( ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล ) คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ได้แก่ วิบาก กิริยา รูป และนิพพาน.” 

       ในที่นี้คงเขียนตามรูปบาลีเป็น “อัพยากต” 


       ( 2 ) “ธรรม” 

       บาลีเป็น “ธมฺม” ( ทำ-มะ ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ ( ธาตุ = ทรงไว้ ) + รมฺม ( ปัจจัย ) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ ( ธรฺ > ธ ) และ ร ต้นปัจจัย ( รมฺม > มฺม ) 

       : ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม ( ปุงลิงค์ ) แปลตามศัพท์ว่า – 

       ( 1 ) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” ( หมายถึงบุญ ) 

       ( 2 ) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” ( หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม ) 

       ( 3 ) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” ( หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล )  

       ( 4 ) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” ( หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป )  

       ( 5 ) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” ( หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล )  


       คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้” 

       “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” 

       อพฺยากต + ธมฺม = อพฺยากตธมฺม ( อับ-เพีย-กะ-ตะ-ทำ-มะ ) แปลว่า “สภาพที่ไม่ได้ทำให้กระจ่างแจ้งทั่วถึง” ทับศัพท์แบบไทยว่า “อัพยากตธรรม” ความหมายหลักอยู่ที่คำว่า “อัพยากต” ดังที่แสดงไว้ข้างต้น 


ขยายความ : 

       เวลาไปฟังสวดพระอภิธรรม ถ้าใครยังพอระลึกได้ก็ย่อมจะได้ยินพระท่านสวดบทแรกว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา

       กุสลา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นกุศล คือเป็นฝ่ายดี 

       อกุสลา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นอกุศล คือเป็นฝ่ายชั่ว 

       อพฺยากตา ธมฺมา = ธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว 

       “อพฺยากตา ธมฺมา” คำนี้แหละที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเอามาเรียกเป็น “อัพยากตธรรม” หมายถึง สิ่งที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง

       เช่นระบบสื่อสารที่เรารู้จักกันว่า “เฟซบุ๊ก” มันไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง แล้วแต่ว่าคนที่มาเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กจะใช้เพื่อการอันใด

       ใช้เฟซบุ๊กทำดีก็ได้ 

       ใช้เฟซบุ๊กทำชั่วก็ได้ 

       ดังนี้ ย่อมกล่าวได้ว่า เฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม 


- จบ -