Saturday, April 9, 2022

ปาติโมกข์

 

ปาติโมกข์



ปาติโมกข์  

       หมายถึง คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ 227 ข้อ คัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา มีพุทธานุญาต ให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน เรียกกันว่า สงฆ์ทำอุโบสถ

       บทปาติโมกข์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก หมวดสุตตวิภังค์


       มีพุทธานุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

* * * ไม่มีภิกษุจำปาติโมกข์ได้จนจบ

* * * เกิดเหตุฉุกเฉินขัดข้องที่เรียกว่า อันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตรายทั้งสิบ คือ

* * * พระราชาเสด็จมา

* * * โจรมาปล้น 

* * * ไฟไหม้ 

* * * น้ำหลากมา 

* * * คนมามาก 

* * * ผีเข้าภิกษุ 

* * * สัตว์ร้ายเข้ามา 

* * * งูร้ายเลื้อยเข้ามา 

* * * ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต 

* * * มีอันตรายแก่พรหมจรรย์ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

คำถาม - พระลงสวดปาฏิโมกข์เพื่ออะไรค่ะ และต้องลงสวดวันอะไรคะ

คำตอบ - การสวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนศีล 227 ข้อ ของพระภิกษุ โดยจะมีการสวดทุก 15 วัน คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ในเดือนเต็ม หรือวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนขาด

       นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้ทำอุโบสถเป็นพิเศษในคราวที่ภิกษุแตกความสามัคคี เมื่อภิกษุกลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง แม้จะยังไม่ถึงวันปาฏิโมกข์ ก็ให้สวดปาฏิโมกข์ได้ เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ การฟังปาฏิโมกข์เป็นกิจของสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น              

       ทรงตรัสห้ามมิให้สวดปาฏิโมกข์โดยมีคฤหัสถ์ปนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์ หมายความว่าไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ  เนื่องจากการฟังปาฏิโมกข์เป็นกิจสงฆ์ที่สำคัญ และเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แม้สามเณรก็เข้าร่วมไม่ได้  

       ในระหว่างที่กำลังสวดปาฏิโมกข์ หากมีผู้มิใช่ภิกษุเข้ามาในหัตถาสต้องเริ่มสวดปาฏิโมกข์ใหม่ เพราะเป็นสังฆกรรมวิบัติ ความจริงมีข้อห้ามอีกหลายข้อ แต่ไม่ได้ขอกล่าวในที่นี้ 



คำถาม - ทำไมถึงไม่ให้สามเณรเข้าร่วมสวดปาฏิโมกข์

คำตอบ - สวดพระปาฏิโมกข์ ให้เฉพาะพระสงฆ์เข้า เพราะว่า ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ 227 ข้อ เณรมีศีล แค่ 10 ข้อ  

       ที่มาของการสวดพระปาฏิโมข์ ซึ่งในการเสด็จจำพรรษาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสารในครั้งนี้ พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่าสำนักอื่น ๆ มีการลงสวดอุโบสถกรรมกัน ขอให้พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้ลงสวด เพื่อความเลื่อมใสศรัทธาแห่งพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่ามีประโยชน์จึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถกรรมสวดพระปาฏิโมกข์ หรือ ศีล 227 ข้อ ในวันอุโบสถ วันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ คือวันพระข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ

       พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก 15 วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือ เป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์

       จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัย ( วิ.จุลฺล. 7/283/447-8 ; ขุ.อุ. 25/150/116. )ว่า พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลงมา จึงถึงเวลา 1 ยาม พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนว่า ยามหนึ่งแล้วพระมานั่งรออยู่นานแล้วขอให้พระองค์ท่านเสด็จลงทรงสวดพระปาติโมกข์เถิด พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง

       ครั้นถึงยามที่ 2 พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง

       ครั้นถึงยามที่ 3 พระอานนท์ก็ไปกราบทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง

       แต่ว่าในยามที่ 3 นี้ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วย พระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีลก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไป ต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียแล้ว พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถ ก็เป็นอันว่าในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ ( วิ.จุลฺล.7/292/466 ) ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเอง พระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ 15 วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ 

       ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ซึ่งต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์หรือการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือนในวันพระ 


- จบ -