Sunday, April 17, 2022

กระหย่ง-นั่งกระหย่ง

 

กระหย่ง-นั่งกระหย่ง 



       นั่งกระหย่ง คือ การนั่งคุกเข่าในท่ากระโหย่ง ปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง 2 รับก้น จะเห็นตามภาพนี้ครับ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       อุกฺกุฏิก 

       นั่งกระหย่ง นั่งกระโหย่ง นั่งหย่อง นั่งท่าไหน? 

       คำว่า กระหย่ง กระโหย่ง หย่อง แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อุกฺกุฏิก”  

       “อุกฺกุฏิก” ( อุก-กุ-ติ-กะ ) รากศัพท์มาจาก อุ ( คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก ) + กุฏฺ ( ธาตุ = คด , โค้ง , งอ ) , ซ้อน กฺ ระหว่าง อุปสรรคกับธาตุ ( อุ + กฺ + กุฏฺ ) + อิก ปัจจัย ( หรือ + ก ปัจจัย, ลง อิ อาคมท้ายธาตุ : กุฏฺ + อิ + ก ) 

       : อุ + กฺ + กุฏฺ = อุกฺกุฏฺ + อิก = อุกฺกุฏิก แปลตามศัพท์ว่า “การงอขึ้น” หมายถึง การโก่งหรืองอ ( bending up )  


       “อุกฺกุฏิก” มักใช้เป็นคุณศัพท์ขยายกริยา “นั่ง” เช่น อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา = นั่งกระหย่ง 


       มีปัญหาว่า “นั่งกระหย่ง” คือนั่งท่าไหน? 

       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

       ( 1 ) กระหย่ง 2 : ( คำวิเศษณ์ ) ฯลฯ อาการที่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง 2 รับก้น เรียกว่า นั่งกระหย่ง , กระโหย่ง หย่ง หย่ง ๆ โหย่ง หรือ โหย่ง ๆ ก็ว่า 

       ( 2 ) กระโหย่ง 2 : ( คำวิเศษณ์ ) ฯลฯ อาการที่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง 2 รับก้น เรียกว่า นั่งกระโหย่ง , กระหย่ง หย่ง หย่ง ๆ โหย่ง หรือ โหย่ง ๆ ก็ว่า 


       ในภาษาไทยมีคำว่า “นั่งยองๆ” คำว่า “ยองๆ” กับคำว่า “กระหย่ง” หรือ “กระโหย่ง” เป็นคำเดียวกันโดยไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าคำไหนกลายไปจากคำไหนเท่านั้น

       แม้แต่คำว่า “ยงโย่ยงหยก” ก็คงจะต้องกลายรูปกลายเสียงไปจาก “ยองๆ” “กระหย่ง” “กระโหย่ง” นี่ด้วย 


       พจน.54 บอกความหมายของ “ยองๆ” และ “นั่งยองๆ” ไว้ดังนี้ - 

       ( 1 ) ยอง 1 , ยอง ๆ : ( คำวิเศษณ์ ) อาการที่นั่งชันเข่าทั้ง 2 โดยก้นไม่ถึงพื้น เช่น นั่งยองอยู่ในท้องแม่. ( ไตรภูมิ ) , หย่อง ก็ว่า 

       ( 2 ) นั่งยอง ๆ : ( คำกริยา ) นั่งโดยวิธีชันเข่าทั้ง 2 ข้าง ไม่ให้ก้นถึงพื้น 


       จากบทนิยามคำว่า “นั่งยองๆ” กับคำว่า “กระหย่ง” หรือ “กระโหย่ง” จะเห็นได้ว่า อาการที่นั่งนั้นต่างกัน คือ - 

       “นั่งยองๆ” : นั่งชันเข่าทั้ง 2 ไม่ให้ก้นถึงพื้น = นั่งท่านี้จะเอาส้นเท้าทั้ง 2 รับก้นไม่ได้ 

       “นั่งกระหย่ง” หรือ “นั่งกระโหย่ง” : นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง 2 รับก้น = นั่งท่านี้จะชันเข่าทั้ง 2 ไม่ได้ 


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า - 

       “กระหย่ง : ( ในคำว่า “นั่งกระหย่ง” ) นั่งคุกเข่าเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับก้น เรียกว่า นั่งกระโหย่ง ก็ได้ ; บางแห่งว่าหมายถึงนั่งยองๆ” 

       จะเห็นว่า พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ก็นิยามความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั่นเอง แต่ได้เพิ่มเติมว่า บางแห่งบอกว่า “นั่งกระหย่ง” หรือ “นั่งกระโหย่ง” ก็คือ “นั่งยองๆ” 


       ในบทละครเรื่อง สังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหตุการณ์ตอนเจ้าเงาะเข้าเฝ้านางมณฑาที่กระท่อมปลายนา มีความตอนหนึ่งว่า - 

       ๏ เมื่อนั้น

       เจ้าเงาะทำเหมือนถวายตัวใหม่ 

       เฝ้าแต่แลมาแลไป 

       ไม่เข้าใจนบนอบหมอบกราน 

       นั่งยองยองมองดูแล้วปูผ้า

       พนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน 

       ราวกับจะรับศีลสมภาร 

       พังพาบกราบกรานท่านแม่ยาย 

       ( สังข์ทอง ตอนตีคลี ) 


       กลอนวรรคที่ว่า “ราวกับจะรับศีลสมภาร” บอกให้รู้ว่า นั่งยองๆ นั้นเป็นท่านั่งในเวลารับศีลหรือเวลาปฏิบัติพิธีการในพระพุทธศาสนา 

       ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นคนเก่ากราบพระรัตนตรัยโดยเบญจางคประดิษฐ์จะเริ่มด้วยท่านั่งยองๆ แล้วจึงคุกเข่า เมื่อก้มกราบครั้งหนึ่งแล้วยกตัวขึ้นก็จะกลับนั่งยองๆ ท่าเดิมอีก แล้วเริ่มกราบครั้งที่สองที่สาม 

       อนึ่ง พระรุ่นเก่าเวลาแสดงอาบัติ นั่งหันหน้าเข้าหากันก็จะนั่งในท่านั่งยองๆ เช่นกัน 

       จึงน่าจะตกลงใจได้ว่า สำนวนบาลีที่ว่า “นั่งกระหย่งประนมมือ” ( อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวา ) ก็คือ “นั่งยองๆ” นี่เอง ไม่ใช่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับก้น ดังบทนิยามในพจนานุกรมฯ 


       อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายท่านั่ง “อุกฺกุฏิก” ตามทัศนะของฝรั่งไว้ดังนี้ - 

       Ukkuṭika : a special manner of squatting. The soles of the feet are firmly on the ground, the man sinks down, the heels slightly rising as he does so, until the thighs rest on the calves, and the hams are about six inches or more from the ground. Then with elbows on knees he balances himself. Few Europeans can adopt this posture, & none (save miners) can maintain it with comfort, as the calf muscles upset the balance. Indians find it easy, & when the palms of the hands are also held together upwards, it indicates submission. 


       อุกฺกุฏิก : การนั่งกระโหย่ง , การนั่งคุกเข่าโดยเท้าทั้งสองติดพื้นอย่างเต็มที่แล้วก้มตัวลง , ยกส้นเท้าทั้งสองข้างขึ้นเล็กน้อยในขณะก้มตัวลงนั้น จนกระทั่งต้นขาทั้งสองทาบอยู่บนน่อง และตะโพกสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 6 นิ้ว หรือมากกว่านั้น แล้วเอาข้อศอกไว้บนหัวเข่า และทรงตัวไว้ 

       ชาวยุโรปน้อยคนสามารถนำเอาท่านี้มาใช้ , และไม่มีใครคงท่าเช่นนั้นได้อย่างไม่ลำบาก เพราะกล้ามเนื้อของน่องจะทำให้ทรงตัวไม่ถนัด . ชาวอินเดียเห็นว่าทำง่าย และเมื่อเอาฝ่ามือทั้งสองประกบกันไว้และยกตั้งขึ้น ( ประนมมือ ) ก็เป็นการแสดงการมอบหรือถวายตัว 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ท่าพระนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี 

       สวัสดีครับ เรามักจะเห็นคำในพระบาลีว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวา แปลว่า นั่งกระโหย่ง แล้วประคองอัญชลีอย่างไร ชื่อว่า นั่งกระโหย่ง อย่างไร ชื่อว่า ประคองอัญชลี มีหลักฐานตามพระไตรปิฎก และอรรถกถาหลายที่กล่าวไว้ ซึ่งเราสามารถมองออกได้ว่า ท่านนั่งอย่างไร

       เช่น ในอรรถกถาพระธรรมบทกล่าวว่า โส ปน ราชา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อุลฺลงฺฆนฺโต อฏฺฐารสหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฐตฺวา อุลฺลุงฺฆนฺโต อสีติหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฯ แปลว่า ก็พระราชาพระองค์นั้น นั่งกระโหย่งแล้ว เมื่อกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ 18 ศอก แต่เมื่อยืนกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ 80 ศอก บาลีนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูมีความสามารถในการกระโดดสูงได้เพียงนี้ ไม่ขอกล่าวว่าท่านทำได้จริงหรือไม่ แต่กำลังบอกว่า ท่านนั่งอย่างไร แล้วจึงกระโดด ถ้าหมายถึงนั่งท่าขัดสมาธิ นั่งท่าพับเพียบแล้วกระโดด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งหากเป็นท่าเทพบุตรด้วยแล้ว กระโดดก็คงหัวทิ่ม 


       และในอรรถกถามโหสถชาดกตอนหนึ่งว่า โส สาธูติ ตํ ขนฺเธ กตฺวา สพฺพํ ปาเถยฺยญฺจ ปณฺณาการญฺจ คเหตฺวา นทึ โอตริตฺวา โถกํ คนฺตวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ปกฺกามิ ฯ แปลว่า เขารับคำว่า ดีล่ะ แล้วให้หญิงคนนั้นขี่คอ ถือเอาเสบียงและเครื่องบรรณาการ ข้ามลงน้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็นั่งกระโหย่ง ก้าวไปข้อความนี้เล่าถึงว่า ชายสูงใหญ่รูปงาม ได้อาสาพาเมียของนายเตี้ยดำข้ามน้ำ ที่จริงน้ำไม่ลึกมาก พอเดินข้ามได้ แต่นายคนสูงอยากหลอกนายเตี้ยดำว่า น้ำนี้ลึกไม่ควรจะตามมา จึงแกล้งย่อเข่าลง ค่อยๆ เดินข้ามน้ำไป ที่หลอกเช่นนั้น เพราะต้องการแฟนคนสวยของเขา นายเตี้ยดำเห็นดังนั้น ก็ไม่กล้าลงน้ำข้ามไป แต่ภายหลังกลัวเสียแฟน จึงรีบวิ่งข้ามไปโดยไม่ห่วงชีวิต ติดตามอ่านได้ในมโหสถชาดก จะสังเกตว่า เขานั่งอย่างไร จึงเดินไปในน้ำตื้นได้ ถ้าไม่ใช่นั่งยองๆ แล้วเดิน มองไม่เห็นเลยว่า นั่งท่าอื่นๆ แล้วจะเดินไปได้ ถ้ายังไม่หายสงสัย มาดูอีกที่หนึ่งจะเห็นชัด กล่าวไว้ในอรรถกถามหาปทานสูตรว่า

       ยถา หิ อญฺเญ อนฺโตกุจฺฉิคตา ปกฺกาสยํ

       อวตฺถริตฺวา อามาสยํ อุทฺธริตฺวา อุทรปฏลํ 

       ปิฏฺฐิโต กตฺวา ปิฏฺฐิกณฺฏกํ นิสฺสาย อุกฺกุฏิกํ 

       ทฺวีสุ มุฏฺฐีสุ หนุกํ ฐเปตฺวา เทเว วสฺสนฺเต 

       รุกฺขสิสิเร มกฺกฏา วิย นิสีทนฺติ  

       น เอวํ โพธิสตฺโต  


       แปลว่า เหมือนอย่างว่าสัตว์เหล่าอื่นอยู่ภายในท้องบีบพุงแขวนกะเพาะทำแผ่นท้องไว้ข้างหลังอาศัยกระดูกสันหลังวางคางก้มไว้บนกำมือทั้งสอง นั่งเจ่าเหมืองลิงที่โพรงไม้เมื่อฝนตกฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้เป็นอย่างนั้น ( แปลตามพระไตรปิฏกที่แปลไว้ ) บาลีตรงนี้ท่านกำลังอธิบายว่า ธรรมดาว่า พระโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในท้องของมารดาจะไม่อยู่ในท่าหรืออาการเหมือนทารกอื่นๆ ที่อยู่ในท่านั่งยองๆ จับสายสะดือ เหมือนลิงที่นั่งหลบฝนอยู่ตามโพรงไม้ 

       ถึงบาลีนี้แล้ว คงจะมองออกแล้วกระมังว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระบาลีนั้น คือนั่งอย่างไร คงไม่มีลิงตัวไหนนั่งหลบฝนด้วยท่าเทพบุตร หรือท่าเทพธิดาหรอกนะ ในสังคมไทยบัญญัติรู้กันว่า ท่าเทพบุตรและท่าเทพธิดานั้นสุภาพเรียบร้อย พอเห็นพระนั่งในท่ากระโหย่งประคองอัญชลี ก็มักจะติเตียน แทนที่จะสอบถามและหาความรู้ 

       ท่านอาจารย์ได้ท่านั่งอย่างนี้มาจากที่ไหน มีกล่าวไว้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนไว้ไหม ไม่มีถามเลย 

       พอเจอก็ผรุสวาทอย่างเต็มที่ พระนี้นั่งสวดมนต์เหมือนนั่งขี้, นั่งเหมือนเปรตขอส่วนบุญ, นั่งไม่สมควรกับสมณะ ฯลฯ สุดท้ายก็ได้บาปกันไป จริงๆ ท่านั่งกระโหย่งนี้แหละมีมาแต่เดิม ทุกคนนั่งท่านี้มาตั้งแต่ในท้องแม่ ( ยกเว้นพระพุทธเจ้า ) ถ้าจะไม่สุภาพ ก็คงเป็นคนไม่สุภาพมาแต่ในท้อง แต่ใครล่ะจะยอมรับว่าตัวเองไม่สุภาพ ส่วนคำว่า อัญชลี ท่านกล่าวว่า ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ อญฺชลิมฺปคฺคยฺห คือ ประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยการประกบกันของนิ้วมือทั้งสิบ จากบาลีนี้ จึงหมายถึง การประนมมือนั่นเอง 

       การนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี นี้เป็นท่านั่งของพระภิกษุในการประกอบพิธีต่างๆ อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการอุปสมบท การแสดงอาบัติ การสวดปาติโมกข์ การปวารณา วุฏฐานวิธี การขอขมา และการสวดสังฆกรรมอื่นๆ อีกมากมาย คือก่อนหน้านั้น ไม่รู้ว่า นั่งท่าใดกันอยู่ แต่พอจะมีการสวดหรือทำสิ่งใดเป็นทางการ ในพระบาลีจะกล่าวว่า ครองผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าพระเถระ นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วก็ แล้วแต่สังฆกรรม


       ฉะนั้น เห็นสิ่งใดแล้ว สงสัย อย่าพึ่งตำหนิ จำสิ่งนั้นให้ดี ไม่ว่าจะเป็นคำพูด กิริยาท่าทาง แล้วตั้งคำถามในใจก่อน จากนั้นหาคำตอบให้ได้ก่อน เที่ยวถามผู้รู้ให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยลงความเห็น ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ก็ควรเป็นเช่นนี้ ในการเสพข่าวเช่นกัน ก็ควรรู้ให้ชัดก่อนว่า จริงแท้ประการใด ถ้าไม่รู้ ให้สอบถามผู้รู้ แล้วค่อยลงความเห็น 

       การนั่งแบบพับเพียบ ขัดสมาธิ เทพบุตร เทพธิดา ก็เรียบร้อยดี ไม่มีการปรับอาบัติ ในท่านั่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราได้รู้ธรรมเนียมการนั่งกระโหย่งตามพระบาลีแสดงไว้ เพื่อสืบทอดต่อไป ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นไว้ก็คงไม่เสียหาย เพราะคำว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก และคนไทยเราส่วนมาก ยังไม่รู้ว่านั่งอย่างไร แต่พม่าหรือศรีลังกา มีให้เห็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก 

       โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล 


- จบ -