Saturday, April 9, 2022

ธรรมกถึก

 

ธรรมกถึก 



พระธรรมกถึกคือใคร?

       พระธรรมกถึก คือ ผู้ที่จะต้องไปกล่าวธรรม แสดงธรรม เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในการนำธรรมของพระองค์ไปเผยแพร่แก่ประชาชน 

       พระธรรมกถึกจึงต้องเป็นผู้ชาญฉลาด เข้าใจในหลักธรรมอย่างแจ่มแจ้ง 



ลักษณะการแสดงธรรม 

       การประกาศธรรม แสดงธรรม มีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ ที่พอจะรวบรวมได้มีอยู่ 5 ลักษณะ คือ 

       1. เทศนาธรรม การขึ้นเทศน์ ขึ้นแสดงธรรมบนธรรมาสน์ หรือบนอาสนะอันสมควร 

       2. ปาฐกถาธรรม 

       3. อภิปรายธรรม 

       4. การสนทนาธรรม 

       5. การบรรยายธรรม หรือการสอนธรรม  



เทศนาธรรม 

       เทศนาธรรม คือ การเทศน์ มีอยู่ 3 ลักษณะ คือ 

       1. เทศนาธรรมาสน์เดียว 

       2. เทศนา 2 ธรรมาสน์ 

       3. เทศนา 3 ธรรมาสน์ 



* * * เทศนาธรรมาสน์เดียว คือ การเทศน์องค์เดียว สะดวกแก่การเตรียมตัว เพราะพระธรรมกถึกสามารถจัดโครงเรื่อง กำหนดหัวข้อ กำหนดเรื่องไปเองได้ แล้วแต่งานแล้วแต่กลุ่มผู้ฟัง 



* * * เทศนา 2 ธรรมาสน์ คือ การเทศน์ในลักษณะปุจฉา ( ถาม ) วิสัชนา ( ตอบ ) ต้องอาศัยปฏิภาณมาก

       - เทศน์ในงานมงคล เช่น ฉลองศาลาการเปรียญ ฉลองตำแหน่ง คล้ายวันเกิดบวชนาค 

       - เทศน์งานอวมงคล เช่น เทศน์แจงทำบุญอุทิศส่วนกุศล 

       - ต้องมีการเตรียมตัวมาก เพราะบางครั้ง พระธรรมกถึกที่มาเทศน์ร่วมด้วยนั้น ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน จึงเป็นการยากแก่การกำนหดแนวทางการถามตอบ 



* * * เทศน์ 3 ธรรมาสน์ โดยมากจะเป็นการเทศน์แจง ต้องมีการเตรียมตัวมาก ต้องมีการซักซ้อมมอบหมายงานกันก่อนว่า ใครรับหน้าที่ทำอะไร แต่ที่นิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล ก็คือ

       - พระธรรมกถึกผู้มีอาวุโสสูงสุด รับตำแหน่ง “พระมหากัสสป” มีหน้าที่ในการสอบถามไต่ถามข้อความตามปิฎกทั้ง 3 

       - พระธรรมกถึกผู้มีอาวุโสถัดมา รับตำแหน่ง “พระอุบาลี” มีหน้าที่ในการวิสัชนาในเรื่องที่เกี่ยวกับพระวินัย 

       - พระธรรมกถึกผู้มีอาวุโสน้อยสุด รับตำแหน่ง “พระอานนท์” มีหน้าที่ในการวิสัชชนาในเรื่องที่เกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม 



ตำแหน่งในการเทศนา 3 ธรรมาสน์ 

///// ผู้มีอาวุโสสูงสุด ( พระมหากัสสป ) ให้ศีล  

/////  ผู้มีอาวุโสถัดมา ( พระอุบาลี ) บอกศักราช 

/////  ผู้มีอาวุโสน้อยสุด ( พระอานนท์ ) บอกอานิสงส์ ดำเนินการเทศน์ และเป็นองค์สมมติมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ 




ข้อปฏิบัติก่อนการขึ้นแสดงธรรมบนธรรมาสน์

       - เทศน์ที่บ้าน ไม่ต้องกราบพระพุทธรูป 

       - เทศน์ที่วัด ต้องกราบพระพุทธรูปก่อนขึ้นธรรมาสน์ 

       - ถ้าเจ้าภาพต้องการกรวดน้ำ ต้อง ยถา......สพฺพี......ด้วย 



เทศนาของพระพุทธเจ้ามีลักษณะ 3 

       1. อาณาเทศนา ลักษณะการเทศน์เป็นการวางระเบียบแบบแผนประเพณี ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระวินัย เหมือนกันการตรากฎหมายธรรมนูญ 

       2. โวหารเทศนา เทศนาไปตามโวหาร เพื่ออนุโลมไปตามอัธยาศัยของผู้ฟัง 

       3. ปรมัตถเทศนา การเทศนาถึงเรื่องที่เป็นสภาวธรรมอันเป็นปรมัตถ์ล้วนๆ พูดถึงสภาวธรรม หัวข้อธรรมที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก 



ปาฐกถาธรรม 

       ส่วนมากนั้น มีลักษณะเป็นการยืนพูด ปาฐกถา ไม่มีพีรีตรองมากเหมือนการเทศน์ จะปาฐกถากี่คนก็ได้ ลักษณะการปาฐกถาต้องดูงาน ดูจุดประสงค์ของผู้นิมนตษว่าจะให้ปาฐกถาปรารภอะไร แต่ส่วนมากจะเป็นปาฐกถาหน้าศพ ก่อนกำการฌาปนกิจ 



การปาฐกถาหน้าศพ 

       - ต้องพูดเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต 

       - ใช้เวลาในการปาฐกถาประมาณ 15 -  20 นาที  



อภิปรายธรรม

       มักทำกันเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมายเหมือนกับการเทศน์ เพียงแต่ผู้เป็นพระธานในการดำเนินการอภิปราย กล่าวแนะนำผู้ร่วมอภิรายก่อนเท่านั้น 



สิ่งควรระวังในการอภิปราย 

       - อย่าให้เกิดความแตกแยกกับผู้ร่วมอภิปราย โดยเฉพาะในการอภิปรายร่วมกับคนต่างลัทธิ ต่างศาสนา ต้องหลีกเลี่ยงในการแสดงความคิดเห็น 

       - อภิปรายในลักษระที่เป็นกลาง ๆ ไม่เข้าข้างใด 

       - ต้องรู้จักรับช่วง 



สนทนาธรรม 

       การสนทนาธรรม ไม่มีพิธียุ่งยากเหมือนการเทศน์ การสนทนาธรรมนั้น มีทั้งคุณ มีทั้งโทษ ลักษณะของการสนทนาที่จะไม่ให้เกิดโทษก็คือ “การพูดต้องมีที่มา มีที่ไป มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่กล่าวลอยๆ” 



บรรยายธรรม 

       เป็นการสอนธรรมชนิดหนึ่ง บรรยายตามหัวข้อที่เขากำหนดให้ ไม่มีพีเช่นกัน การสอนพระปริยัติธรรม ก็เป็นการบรรยายธรรมชนิดหนึ่ง



กลุ่มเป้าหมาย 

       พระธรรมกถึก มีผู้ฟังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ ๆ 4 กลุ่ม คือ 

       1. กลุ่มข้าราชการ 

       2. กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ 

       3. กลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา 

       4. กลุ่มประชาชนทั่ว ๆ ไป 


กลุ่มข้าราชการ 

       มีทั้งข้าราชการที่เป็นพลเรือน ทหาร ตำรวจ เพราะกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการ เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปพบได้ง่าย 


หลักธรรมสำหรับข้าราชการ 

       หลักธรรมที่ข้าราชการควรใช้เป็นแบบในการปฏิบัติ ก็คือ “ยโสภิวัฑฒนกถา” คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญยศ มีอยู่ 7 ประการ คือ 

       1. อุฏฐานะ ความขยันหมั่นเพียร 

       2. สติ ความระลึกได้ ความไม่หลงลืมสติ 

       3. สุจิกัมมะ การงานสะอาด 

       4. นิสัมมการะ ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงมือทำ 

       5. สัญญมะ ความสำรวมระวัง 

       6. ธัมมชีวะ ความเป็นอยู่โดยธรรม 

       7. อัปปมาทะ ความไม่ประมาท 


       สิ่งที่ควรระวังในการพูดกับข้าราชการก็คือ ไม่ควรพูดถึงการทุจริตคอร์รับชั่นพยายามหลีกเลี่ยง


กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ

       เป็นกลุ่มคนที่สะดวกในการพบเช่นเดียวกัน ลักษณะการพูดไม่ควรพูดถึงเรื่องของอดีต โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้ต้องโทษกระทำความผิดมาก่อน

หลักธรรมสำหรับผู้ต้องขัง 

       - ควรเน้นในเรื่องความดี การทำความดี 

       - ควรเน้นในเรื่องกรรม และผลของกรรม 



กลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา 

       เป็นกลุ่มคนที่พบง่าย ชักจูงง่าย และเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าสำหรับประเทศชาติ 

หลักธรรมสำหรับเยาวชน 

       - ควรเน้นในเรื่องความขยัน ความอดทน 

       - ควรเน้นในเรื่องโทษของสิ่งเสพติด โทษของการคบเพื่อนชั่ว 

       - ควรเน้นเรื่องความกตัญญู รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ 

       - ควรเล่านิทานอิงธรรมะประกอบ 


กลุ่มประชาชนทั่วๆไป 

       หลักธรรมที่พระธรรมทูตจะใช้สอนคนกลุ่มนี้ ควรเน้นในเรื่องฆราวาสธรรม ธรรมสำหรับผู้อยู่ครองเรือน นอกจากนี้แล้ว ก็ควรจะเน้นธรรมอันเหมาะสมกับความแปรปรวนผันผวนไปตามสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพของประชาชนกลุ่มนั้นๆ ด้วย 

ข้อที่พระธรรมกถึกควรระวังในการเทศนา 

       - ต้องแสดงไปตามลำดับ 

       - อย่าตัดทอน หรือข้ามลำดับจนเสียความ 

       - อย่าแสดงธรรมในลักษณะยกตนข่มท่าน 

       - อย่าแสดงธรรมเสียดสีผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย 



บทสรุปวิชาธรรมกถึก 

       การแสดงธรรมทั้ง 5 ลักษณะ จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพียงไร ต้องขึ้นอยู่กับ “โลกทัศน์” ของพระธรรมกถึกด้วยว่า พระธรรมกถึกองค์นั้นๆ มีโลกทัศน์กว้างขวางแค่ไหน พระธรรมกถึกนั้นต้องเป็นผู้มีโลกทัศน์กว้าง มีความรู้รอบตัวมากกว่าในตำรา จึงจะเป็นผู้ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ 



คุณสมบัตินักเผยแผ่ 

       1. อนูปวาโท ไม่มุ่งกล่าวให้ร้ายใคร 

       2. อนูปฆาโต ไม่มุ่งทำร้ายใคร 

       3. ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ( รักษาระเบียบ ) 

       4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในภัตตาหาร ( ไม่เห็นแก่กิน กินพอประมาณ ) 

       5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ นอนนั่งอย่างสงบสงัด ( มีอิริยาบถสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ) 

       6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค พากเพียรในอธิจิต ( พยายามทำใจให้เป็นสมาธิ คือ มีใจสงบ มั่นคง ไม่หวั่นไหว) 


       เอตํ พุทฺธานสาสนํ 6 ข้อนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 


- จบ -