Friday, September 9, 2022

โพชฌงค์ 7

 




โพชฌงค์ 7 

       โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ

* * * สติ ( สติสัมโพชฌงค์ ) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง  


* * * ธัมมวิจยะ ( ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม  


* * * วิริยะ ( วิริยสัมโพชฌงค์ ) ความเพียร  


* * * ปีติ ( ปีติสัมโพชฌงค์ ) ความอิ่มใจ  


* * * ปัสสัทธิ ( ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ) ความสงบกายใจ 


* * * สมาธิ ( สมาธิสัมโพชฌงค์ ) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ 


* * * อุเบกขา ( อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง 



       โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 ( ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อันได้แก่ สติปัฏฐาน 4 , สัมมัปปธาน 4 , อิทธิบาท 4 , อินทรีย์ 5 , พละ 5 , โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 ) 

       ทั้งนี้ พระสูตรและปาฐะที่เกี่ยวข้องกับโพชฌงค์ 7 โดยตรง ได้แก่ มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ , มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ , มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ 



โพชฌงค์คู่ปรับกับอนุสัย 

       1. สติเป็นคู่ปรับกับอวิชชา 


       2. ธัมมวิจยะเป็นคู่ปรับกับทิฏฐิ ( สักกายทิฏฐิและสีลัพพัตปรามาส ) 


       3. วิริยะเป็นคู่ปรับกับวิจิกิจฉา 


       4. ปีติเป็นคู่ปรับกับปฏิฆะ 


       5. ปัสสัทธิเป็นคู่ปรับกับกามราคะ 


       6. สมาธิเป็นคู่ปรับกับภวราคะ ( รูปราคะ อรูปราคะ ( ภพที่สงบ ) กับ อุทธัจจะกุกกุจจะ ( ภพที่ไม่สงบ ) ) 


       7. อุเบกขาเป็นคู่ปรับกับมานะ 



* * * ธัมมวิจยะและวิริยะทำลายทิฏฐิและวิจิกิจฉาอนุสัย บรรลุเป็นพระโสดาบันและหรือพระสกทาคามี 


* * * ปีติและปัสสัทธิทำลายปฏิฆะและกามราคะอนุสัย บรรลุเป็นพระอนาคามี 


* * * สมาธิ อุเบกขาและสติทำลายรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจกุกกุจจะ มานะ อวิชชาอนุสัย บรรลุเป็นพระอรหันต์ 



///// สติ ความระลึกได้ ธรรมดาสตินั้นเป็นธรรมชาติทำลายโมหะคือความหลง ท่านกล่าวว่าโมหะทำให้เกิดอวิชชา และอวิชชาทำให้เกิดโมหะเช่นกัน ดังนั้นผู้เจริญสติจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายอวิชชาลงเสียได้ 


///// ธัมมวิจยะ ความพิจารณาในธรรมจนเห็นชัดตามความเป็นจริงย่อมทำลายสักกายทิฏฐิในตัวตนว่าขันธ์ 5 เป็นตัวกู ( อหังการ ) ของกู ( มมังการ ) ลงเสียได้และย่อมทำลายสีลัพพัตตปรามาส การถือมั่นในศีลพรตอย่างผิดๆ ด้วยการเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎแห่งกรรม 


///// วิริยะ ความแกล้วกล้าของจิต ที่เพียรพยายามด้วยศรัทธาที่มั่นคง จนประสบผลจากการปฏิบัติจนสิ้นความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือเป็นความศรัทธาในระดับวิริยะ คือมีความแกล้วกล้า ( วิร ศัพท์ แปลว่ากล้า ) อันหมายถึงความเพียรอันเกิดจากความแกล้วกล้าเพราะศรัทธา 


///// ปีติ ความสุขจากความแช่มชื่นใจของปีติ ย่อมดับสิ้นซึ่งพยาบาทและปฏิฆะความไม่พอใจใดๆลงเสียได้ 


///// ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ ย่อมทำให้กามราคะที่เกิดเมื่อเกิดย่อมต้องอาศัยการนึกคิดตรึกตรองในกาม เมื่อสำรวมกายคืออินทรีย์5ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสำรวมใจไม่ให้คิดตรึกตรองในกาม ย่อมยังกามราคะที่จะเกิดไม่ให้เกิดเสียได้ 


///// สมาธิ ความตั้งใจมั่น สมาธิระดับอัปปนาสมาธิย่อมกำจัดความฟุ่งซ่านรำคาญใจลงเสียได้ และสมาธิระดับอรูปราคะย่อมทำลายความยินดีพอใจในรูปราคะเสียเพราะความยินดีในอรูปราคะ และสมาธิระดับนิโรธสมาบัติย่อมต้องทำลายความยินดีพอใจในอรูปราคะเสียเพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ( ในชั้นนี้ ผู้ปฏิบัติที่สามารถละปฏิฆะและกามราคะได้เด็ดขาด ย่อมบรรลุเป็นพระอนาคามีที่มีปกติเข้าถึงนิโรธสมาบัติได้แล้ว ) 


///// อุเบกขา ความวางเฉย คือวางเฉยในสมมุติบัญญัติและผัสสะเวทนาทั้งหลาย ทั้งหยาบ เสมอกัน และปราณีต จนข้ามพ้นในความเลวกว่า เสมอกัน ดีกว่ากัน จนละมานะทั้งหลายลงเสียได้ 



ธรรมะที่เกี่ยวข้อง 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ได้

       ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้  

       ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ 


* * * อานาปานสติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/โพชฌงค์_7  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -