Friday, September 9, 2022

พละ 5

 



พละ 5 

       พละ หรือ พละ 5 คือ กำลังห้าประการ ได้แก่ 

* * * ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังแห่งความเชื่อ ความศรัทธา 


* * * วิริยะพละ ความเพียร กำลังแห่งความเพียรพยายาม 


* * * สติพละ ความระลึกได้ กำลังแห่งสติ ระลึกรู้ 


* * * สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังแห่งใจที่ตั้งมั่น 


* * * ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังแห่งความรู้ที่เกิดจากปัญญาญาณ 


       เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์ 5 คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ พละ 5 เป็นธรรมที่กำจัดแก้อกุศลนิวรณ์ อินทรีย์เป็นธรรมเสริมสร้างกุศลอิทธิบาท 



พละ 5 กับนิวรณ์ 5

       พละทั้งห้านี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้ ศรัทธาปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าพละห้า ไม่สมดุล ท่านว่าจะเกิดนิวรณ์ทั้งห้า

* * * ศรัทธาพละมากกว่าปัญญาพละ จะทำให้มีโมหะได้ง่าย จนเกิดราคะ โทสะได้ง่าย ทำให้อาจเกิดกามฉันทะนิวรณ์หรือพยาบาทนิวรณ์ 


* * * ปัญญาพละมากกว่าศรัทธาพละ จะเกิดวิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัย  


* * * วิริยะพละมากกว่าสมาธิพละ จะเกิดอุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ  


* * * สมาธิพละมากกว่าวิริยะพละ จะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์ ความง่วงและท้อแท้ เกียจคร้าน 



พละ 5 กับสติปัฏฐาน

       ตามหลักปฏิบัติสติปัฏฐานท่านว่าเป็นเหตุให้เกิด พละ5 ตามอารมณ์ของสติปัฏฐานที่ได้เจริญ

* * * สติพละ สตินั้นท่านกล่าวว่ายิ่งมีมากยิ่งดี การเจริญวิปัสสนานั้น ท่านให้กำหนดสติรับรู้จากน้อยไปหามาก ยิ่งมีอารมณ์กำหนดน้อยก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย ถ้ามีอารมณ์ให้กำหนดกว้างมากสมาธิจะน้อยจนไม่เป็นอันปฏิบัติ เพราะสมาธิคือความตั้งใจของจิต ถ้าสมาธิมีมากเกินไปจิตจะดิ่งนิ่งไม่มีสติ อุบายคือเมื่อสมาธิมีมากเกินไป เพราะเริ่มชำนาญต่ออารมณ์กรรมฐานที่กำหนด ให้เพิ่มการรับรู้ของสติให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้นทีละน้อย ด้วยการเพิ่มอารมณ์ที่ต้องกำหนดคืออิริยาบถย่อยและอารมณ์ทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 ให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้นทีล่ะน้อย ถ้าเพิ่มมากเกินไปในทีเดียว จะสูญเสียสมาธิที่ใช้ในการกำหนดอารมณ์กรรมฐานกลายเป็นฟุ้งซ่านหรือขี้เกียจไป เพราะถ้าจิตรับรู้น้อยอย่างจะเกิดสมาธิได้ง่าย ถ้าจิตรับรู้มากอย่างในอิริยาบถและสัมผัสทั้ง 6 จะเกิดสติมากแต่จะอ่อนสมาธิจนอาจไม่สนใจเจริญสติ เพราะไม่มีสมาธิรักษาอารมณ์ที่จดจ่อในการกำหนด จึงต้องค่อยๆเพิ่มอารมณ์ที่ใช้กำหนดทีล่ะน้อย เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติชำนาญจนเคยชินจะกลายเป็นสมาธิมากขึ้นเอง จึงต้องค่อยๆเพิ่มการรับรู้ของสติไปเรื่อยๆทีล่ะขั้น เพื่อลดกำลังของสมาธิด้วยสติ ,

       แต่แม้จะไม่เพิ่มการกำหนดของจิตให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้น เพื่อหวังให้สมาธิคงอยู่นาน แต่การกระทำเช่นนั้น ก็อาจทำให้สมาธิค่อยๆอ่อนกำลังได้เช่นกัน เหมือนการที่ทำอะไรจนเคยชินจนคล่องมาก จะเริ่มไม่มีสมาธิต่อสิ่งนั้นจนสามารถ เริ่มทำสิ่งนั้นไปพร้อมกับสิ่งอื่นได้ง่ายๆ ซึ่งการชำนาญมากไปอาจมีผลให้จิตเหม่อลอย ขี้เกียจจนเกิดถีนมิทธะได้ง่าย ดังนั้นการจะสร้างสมาธิเมื่อจิตเริ่มชำนาญต่ออารมณ์ที่มีอยู่ ก็คือการกำหนดสติให้มากขึ้นกว้างขึ้นละเอียดขึ้น จิตจึงจะกลับมีสมาธิต่ออารมณ์กรรมฐานได้ดีต่อไป การใช้สติลดกำลังสมาธิแบบนี้ สติจะกล้าแข็งกว่าสมาธิไปทีล่ะระดับขั้น 


* * * ศรัทธาพละ เกิดจากสมาธิอันเป็นตัวแทนแห่งสมถะที่มีอารมณ์ให้เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย ในทาน ศีล ความดี นิพพานฯลฯได้ง่าย มีอารมณ์อันเป็นฝักฝ่ายให้เกิดราคะ เช่น วรรณะกสิน และอารมณ์ให้เกิดโทสะเช่นอสุภะ กายคตาสติ และอารมณ์ต่างๆเช่นมรณานุสสติ อัปปมัญญา เหล่านี้มีกำลังมากกว่าสติอันเป็นตัวแทนแห่งวิปัสสนานั่นคือปัญญา เมื่อสมาธิมีกำลังมากกว่าสติ ศรัทธาพละจึงมีกำลังมากกว่าปัญญาพละ เป็นเหตุให้เกิดกามฉันทะนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์ได้ง่าย การที่สมาธิมีกำลังมากกว่าสติ เพราะสมาธิเกิดขึ้นได้ง่ายในการจดจ่อ ตั้งใจมั่น ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมทำให้สติที่เป็นสภาวะกำหนดครอบคลุมในอิริยาบถทั้งหลายในทุกประสาทสัมผัสทั้งหลาย อ่อนกำลังลงเพราะไม่สามารถกำหนดครอบคลุมได้ 


* * * ปัญญาพละ เกิดจากสติอันเป็นตัวแทนแห่งวิปัสสนาคือปัญญามีกำลังมากกว่าสมาธิอันเป็นตัวแทนแห่งสมถะที่มีอารมณ์ให้เกิดศรัทธาในองค์ธรรมต่างๆ เพราะเหตุแห่งจิตมีปัญญาในพระไตรลักษณ์มาก เมื่อสติมีกำลังมากกว่าสมาธิ ทำให้ปัญญาพละมีกำลังมากกว่าศรัทธาพละ เป็นเหตุให้เกิดวิจิกิจฉานิวรณ์ได้ง่าย การที่สติมีกำลังมากกว่าสมาธิ เพราะสติคือการกำหนดแบบครอบคลุมทุกอิริยาบถทุกการรับรู้ทางประสาทสัมผัสยิ่งมากสติยิ่งมีกำลัง แต่จะเป็นเหตุให้สมาธิที่ชอบกำหนดจดจ่อในอารมณ์น้อยอย่าง สูญเสียอารมณ์สมาธิได้ง่าย 


* * * วิริยะพละ เกิดจากการกำหนดการเดินจงกรมและการกำหนดอิริยาบถย่อย ซึ่งถ้าทำมากไปจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน 


* * * สมาธิพละ เกิดจากการกำหนดในอิริยาบถนั่ง ถ้ามากไปทำให้ขี้เกียจ ท้อแท้ ง่วง เบื่อ ได้ 



       ดังนั้น ให้ศรัทธาพละสมดุลกับปัญญาพละด้วยการกำหนดอารมณ์ให้เหมาะสมแก่กำลังของสติสมาธิในขณะนั้น ให้วิริยะพละสมดุลกับสมาธิพละด้วยการสลับการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิให้เหมาะสมแก่อินทรีย์ของตนเอง  
 


ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พละ_5 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -