Thursday, February 11, 2021

อานิสงส์แห่งอานาปานสติ 7 ประการ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์แห่งอานาปานสติ 7 ประการ

      ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก” 

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง
หายใจออก”  

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์ 7 ประการ ย่อมเป็นสิ่งที่หวังได้

       ผลอานิสงส์ 7 ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?

       ผลอานิสงส์ 7 ประการ คือ

       1.การบรรลุอรหัตตผลทันทีในปัจจุบันนี้ 

       2.ถ้าไม่เช่นนั้น ย่อมบรรลุอรหัตตผลในกาลแห่งมรณะ  

       3.ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ 5 ย่อมเป็นอันตราปรินิพพายี  

       4.ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ 5 ย่อมเป็นอุปหัจจปรินิพพาย

       5.ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ 5 ย่อมเป็นอสังขารปรินิพพายี  

       6.ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ 5  ย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายี

       7.ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสัญโญชน์ 5 ย่อมเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี 

       ภิกษุทั้งหลาย !  อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ผลอานิสงส์ 7 ประการเหล่านี้ ย่อมหวังได้ ดังนี้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์แห่งอานาปานสติ 7 ประการ  /  หัวข้อเลขที่ : 2  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/397/1314-1316.  /  หน้าที่ : 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 

- END -