Friday, February 19, 2021

สัญญา 10 ประการ ในฐานะแห่งการรักษาโรคด้วยอำนาจสมาธิ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สัญญา 10 ประการ ในฐานะแห่งการรักษาโรคด้วยอำนาจสมาธิ

       อานนท์!  ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์แล้วกล่าวสัญญา 10 ประการแก่เธอแล้ว ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอ ก็จะระงับไปโดยควรแก่ฐานะ

       สัญญา 10 ประการ นั้นคือ อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุ-อนิจจสัญญา อานาปานสติ


       อานนท์!  อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง” ดังนี้ เป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ทั้งห้าเหล่านี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา


       อานนท์!  อนัตตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ว่า “ตาเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา” ดังนี้

       เป็นผู้เห็นซึ่งความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งภายในและภายนอก 6 เหล่านี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา


       อานนท์!  อสุภสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ เห็นโดยประจักษ์ซึ่งกายนี้นี่แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไปถึงเบื้องบน แต่ปลายผมลงมาถึงเบื้องล่าง ว่ามีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ คือกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำหล่อลื่นข้อ น้ำมูตร

       เป็นผู้เห็นความไม่งามในกายนี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา


       อานนท์!  อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า “กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก คือในกายนี้มีอาพาธต่างๆ เกิดขึ้น กล่าวคือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคที่ศีรษะ โรคที่หู โรคที่ปาก โรคที่ฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้มีพิษร้อน ไข้เซื่องซึม โรคกระเพาะ โรคลมสลบ ลงแดง จุกเสียด เจ็บเสียว โรคเรื้อรัง โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน คุดทะราด โรคละออง โรคโลหิต โรคดีซ่าน เบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง ริดสีดวงทวาร อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ไข้สันนิบาต ไข้เพราะฤดูแปรปรวน ไข้เพราะบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ไข้เพราะออกกำลังเกิน ไข้เพราะวิบากกรรม ความไม่สบายเพราะความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะ” ดังนี้

       เป็นผู้เห็นโทษในกายนี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.


       อานนท์!  ปหานสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไม่ยอมรับไว้ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป

       ไม่ยอมรับไว้ซึ่งพ๎ยาปาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป

       ไม่ยอมรับไว้ซึ่งวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละย่อมบรรเทา กระทำ ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป

       ไม่ยอมรับไว้ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำ ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป

       นี้เรียกว่าปหานสัญญา


       อานนท์!  วิราคสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า “ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับเย็น”

       ดังนี้ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา


       อานนท์!  นิโรธสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า “ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความดับ เป็นความดับเย็น”

       ดังนี้ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา


       อานนท์!  สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้อนุสัย ( ความเคยชิน ) ในการตั้งทับ ในการฝังตัวเข้าไปยึดมั่นแห่งจิตด้วยตัณหา อุปาทานใดๆ ในโลก มีอยู่ เธอละอยู่ซึ่งอนุสัยนั้นๆ งดเว้น ไม่เข้าไปยึดถืออยู่

       นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ( ความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าเป็นสิ่งไม่น่ายินดี )

       อานนท์!  สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง ต่อสังขารทั้งหลายทั้งปวง

       นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ( ความสำคัญว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง )


       อานนท์!  อานาปานสติ เป็นอย่างไรเล่า ?

       อานนท์!  ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้หรือสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำ จิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำ จิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       นี้เรียกว่า อานาปานสติ 


       อานนท์!  ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญา 10 ประการเหล่านี้แก่เธอแล้ว ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญา 10 ประการแล้ว อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอก็จะระงับไป โดยควรแก่ฐานะ


       ลำดับนั้นแล ท่านอานนท์จำเอาสัญญาสิบประการเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญาสิบประการแก่ท่าน เมื่อท่านคิริมานนท์ฟังสัญญา 10 ประการแล้ว อาพาธก็ระงับไปโดยฐานะอันควร  ท่านคิริมานนท์หายแล้วจากอาพาธ และอาพาธก็เป็นเสมือนละไปแล้วด้วยแล  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : สัญญา 10 ประการ ในฐานะแห่งการรักษาโรคด้วยอำนาจสมาธิ  /  หัวข้อเลขที่ : 26  /  -บาลี ทสก. อํ. 24/115-120/60.  /  หน้าที่ : 112 , 113 , 114 , 115 , 116 , 117 , 118 , 119 , 120 


- END -