Monday, February 15, 2021

เจริญอานาปานสติ มีอานิสงส์เป็นเอนกประการ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เจริญอานาปานสติ มีอานิสงส์เป็นเอนกประการ  


      ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

       ก็อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว 

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น 

       ( แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ )


       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่


       จิตหลุดพ้นจากอาสวะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้เราเอง เมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนการตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำ บาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “กายของเราไม่พึงลำ บาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน” ดังนี้แล้วไซร้ อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี


       ละความดำริอันอาศัยเรือน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “ความระลึกและดำริอันอาศัยเรือนเหล่าใดของเรามีอยู่ ความระลึกและความดำริเหล่านั้นพึงสิ้นไป” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี


       ควบคุมความรู้สึกเกี่ยวความไม่ปฏิกูล 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ 

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี  

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ 

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้เว้นขาดจากความรู้สึกว่าปฏิกูล  และความรู้สึกว่าไม่เป็นปฏิกูลทั้ง 2 อย่างเสียโดยเด็ดขาด แล้วเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี


       เป็นเหตุให้ได้สมาธิในระดับรูปสัญญาทั้งสี่

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติ  และสุข อันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่เถิด”  ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะวิตกวิจารระงับไป เราพึงเข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งจิตในภายใน เพราะธรรมอันเอกคือ สมาธิ ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เราพึงเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย ( สุขญฺจ กาเยน ) ชนิดที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้นั้นเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เราพึงเข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความบริสุทธิ์แห่งสติ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ 

       อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 


       เป็นเหตุให้ได้สมาธิในระดับอรูปสัญญาทั้ง 4 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะการไม่กระทำในใจ ซึ่งนานัตตสัญญามีประการต่างๆ เราพึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่าอากาศไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงเสียแล้ว พึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่าไม่มีอะไร แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสตินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำ ไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ 

       อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี


       เป็นเหตุให้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้

       อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี 


       รู้ต่อเวทนาทุกประการ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำ ให้มากแล้วอยู่อย่างนี้

       ถ้าภิกษุนั้นเสวย เวทนาอันเป็นสุข เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้

       ถ้าภิกษุนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้นอันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้

       ถ้าภิกษุนั้นเสวยเวทนาอันไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เธอย่อมรู้ตัวว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง เธอย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว ย่อมรู้ตัวว่าเวทนานั้น อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว ดังนี้

       ภิกษุนั้น ถ้าเสวย เวทนาอันเป็นสุข ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นอทุกขมสุข ก็เป็นผู้ไม่ติดใจพัวพันเสวยเวทนานั้น

       ภิกษุนั้น เมื่อเสวย เวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ

       เมื่อเสวย เวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ

       เธอย่อม รู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของดับเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันได้อาศัยน้ำมัันและไส้แล้วก็ลุกโพลงอยู่ได้ เมื่อขาดปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะขาดน้ำมันและไส้นั้นแล้วย่อมดับลง นี้ฉันใด 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือภิกษุเมื่อเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ดังนี้

       เมื่อเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตที่สุดรอบ ดังนี้

       ( เป็นอันว่า ) ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของดับเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : เจริญอานาปานสติ มีอานิสงส์เป็นเอนกประการ  /  หัวข้อเลขที่ : 13  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/400-404/1327-1347.  /  หน้าที่ : 60 , 61 , 62 , 63 , 64 , 65 , 66 , 67 , 68 , 69  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( ขยายความของผู้ทำเว็บไซต์นี้ ) คำพูดที่ว่า "แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ " นั้น คำว่าหน้า 1 - 4 มีอะไรบ้าง? คำตอบคือ ในหน้า 1 ถึงหน้า 4 ที่พูดถึงนี้คือ หน้า 1 ถึงหน้า 4 ของหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ ซึ่งก็คือเรื่อง "อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ" นั่นเอง 

- END -