พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ
เรื่อง อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ
ภิกษุทั้งหลาย! อานาปานสติอันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง ( สพฺพกายปฏิสํเวที ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ ( ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ ( ปีติปฏิสํเวที ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข ( สุขปฏิสํเวที ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร ( จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ ( ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต ( จิตฺตปฏิสํเวที ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง ( อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ ) หายใจเข้า” ว่า“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น ( สมาทหํ จิตฺตํ ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ ( วิโมจยํ จิตฺตํ ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ ( อนิจฺจานุปสฺสี ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ ( วิราคานุปสฺสี ) หายใจเข้า” ว่า“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ ( นิโรธานุปสฺสี ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”
เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ( ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ) หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”
ภิกษุทั้งหลาย! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาผล 2 ประการ เป็นสิ่งที่หวังได้
คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือว่าถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จักเป็น อนาคามี
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ / หัวข้อย่อย : อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ / หัวข้อเลขที่ : 1 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/396-397/1311-1313. / หน้าที่ : 1 , 2 , 3 , 4
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย / หัวข้อใหญ่ : อานาปานสติ / หัวข้อย่อย : อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ / หัวข้อเลขที่ : 10 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/396-397/1311-1313. / หน้าที่ : 36 , 37 , 38 , 39
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม / หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ / หัวข้อย่อย : อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ / หัวข้อเลขที่ : 74 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/396-397/1311-1313. / หน้าที่ : 200 , 201 , 202 , 203
- END -