พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง อานาปานสติ วิหารธรรมของพระอริยเจ้า
เรื่อง อานาปานสติ วิหารธรรมของพระอริยเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าพวกปริพาชกเดียรถีย์ลัทธิอื่นจะพึงถามเธอทั้งหลาย อย่างนี้ว่า “ท่านมีผู้มีอายุ! พระสมณโคดม ทรงอยู่จำพรรษาส่วนมาก ด้วยวิหารธรรมไหนเล่า ?” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้วพึงตอบแก่พวกปริพาชกเดียรถีย์ลัทธิอื่นเหล่านั้น อย่างนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่ตลอดพรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยวิหารธรรมคือ อานาปานสติสมาธิ แล” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้ เราเป็นผู้มีสติ หายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
(แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ)
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใครผู้ใดจะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธินี้แหละ ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ ยังไม่ลุถึงธรรมที่ต้องประสงค์แห่งใจ ปรารถนาอยู่ซึ่งโยคเขมธรรมอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า ภิกษุเหล่านั้น เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ส่วนภิกษุทั้งหลายเหล่าใด เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีสิ่งที่ต้องทำอันตนทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพทั้งหลายสิ้นรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเจริญทำให้มากแล้วซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นสุขวิหารในทิฏฐธรรมนี้ด้วย เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะด้วย
ภิกษุทั้งหลาย! ฉะนั้น เมื่อใครจะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี เขาพึงกล่าว อานาปานสติสมาธินี้แหละ ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร ดังนี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ / หัวข้อย่อย : อานาปานสติ วิหารธรรมของพระอริยเจ้า / หัวข้อเลขที่ : 21 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/412-423/1364-1368. / หน้าที่ : 97 , 98 , 99
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( ขยายความของผู้ทำเว็บไซต์นี้ ) คำพูดที่ว่า "แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ " นั้น คำว่าหน้า 1 - 4 มีอะไรบ้าง? คำตอบคือ ในหน้า 1 ถึงหน้า 4 ที่พูดถึงนี้คือ หน้า 1 ถึงหน้า 4 ของหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ ซึ่งก็คือเรื่อง "อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ" นั่นเอง
- END -