พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง การเจริญอานาปานสติ ( ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร )
เรื่อง การเจริญอานาปานสติ ( ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร )
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม ย่อมนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ( ขัดสมาธิ ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
( 1 ) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว หรือว่า
( 2 ) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
( 3 ) เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก
( 4 ) เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราทำกายสังขารให้รำงับ จักหายใจเข้า เราทำกายสังขารให้รำงับ จักหายใจออก
เช่นเดียวกับนายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ชำนาญ เมื่อเขาชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงสั้น ฉันใดก็ฉันนั้น
ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายในอยู่บ้าง ในกายอันเป็นภายนอกอยู่บ้าง ในกายทั้งภายในและภายนอกอยู่บ้าง
และเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรม อันเป็นเหตุเกิดขึ้นในกายอยู่บ้าง เห็นธรรมเป็นเหตุเสื่อมไปในกายอยู่ บ้าง เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกายอยู่บ้าง
ก็แหละ สติว่า “กายมีอยู่” ดังนี้ของเธอนั้น เป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึก ที่แท้ เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกนี้
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ / หัวข้อย่อย : การเจริญอานาปานสติ ( ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร ) / หัวข้อเลขที่ : 5 / -บาลี มหา. ที. 10/322-324/274. -บาลี มู. ม. 12/103-105/133. / หน้าที่ : 45 , 46
- END -