Thursday, February 25, 2021

กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน 

      เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุ 2 รูปทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้วไม่เห็นอาบัติ จึงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น แต่ละรูปต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างก็หาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้พระภาคจะทรงแนะนำ ตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการทางกายทางวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงตักเตือน

       ภิกษุทั้งหลาย!  พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย

       มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า!  ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิดพระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”

       พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำ นี้แก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบ 2 ว่า 

       ภิกษุทั้งหลาย!  พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย

       มีภิกษุบางรูปทูลคำนี้ขึ้นเป็นคำรบ 2 ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิดพระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”

       พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมาร แห่งแคว้นโกศลผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว ( คือไม่ให้ผูกเวรจองเวรไว้นาน ) ไม่ให้เห็นแก่สั้น ( คือไม่ให้ตัดไมตรี ) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตพระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืนพร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย

       ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับศัสตราวุธยังทรงมีขันติและโสรัจจะได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง

       กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า

       คนไพร่ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่า เป็นพาลไม่ เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่

       พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่

       พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้นย่อมระงับไม่ลง

       พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้นย่อมระงับได้

       ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล

       คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้ เพราะความรู้สึกนั้น

       ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยังมีได้ แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้าน ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า

       ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้ ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียวดุจช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น

       การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป เป็นคนมักน้อย ดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น

       ครั้นแล้วจึงเสด็จไปจากที่นั้นสู่พาลกโลณการกคาม สู่ป่าชื่อ ปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่างๆในที่ที่เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ และได้มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปัฏฐากดูแลพระผู้มีพระภาค ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี

       ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้า เหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจักสึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต

       ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย! มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร จีวร พากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี

       ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกสำนึกผิด จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีและยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษ ยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้น เป็นสังฆสามัคคีด้วยทุติยกรรมวาจา เสร็จแล้วให้สวดปาติโมกข์  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผลกระทบทั้งดีและไม่ดีจากการให้ทานมีไหม  /  หัวข้อย่อย : กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน  /  หัวข้อเลขที่ : 47  /  -บาลี มหา. วิ. 5/312/238.  /  หน้าที่ : 102 , 103 , 104 , 105 , 106  

- END -