Friday, February 12, 2021

เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4

โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์



สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์

       
ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมอันเอกนั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ ครั้นธรรมทั้ง 4 นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ ครั้นธรรมทั้ง 7 นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง 2 ให้บริบูรณ์ได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติสมาธินี้แล เป็นธรรมอันเอก ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว  ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้


อานาปานสติบริบูรณ์  ย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ได้ ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว

       เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น 

       เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก” 

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับหายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ” หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ  มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมกล่าวการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่าเป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ  มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตหายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก” 

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ได้ 


สติปัฏฐานบริบูรณ์ ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำ โพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ได้ ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ สมัยนั้นสติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ  ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ความเพียรไม่ย่อหย่อน อันภิกษุผู้เลือกเฟ้น ใคร่ครวญในธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ  ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น

       ภิกษุทั้งหลาย !  สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ภิกษุนั้นเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ

       ภิกษุทั้งหลาย !  สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ สมัยนั้น   ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ  ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้วมีความสุขอยู่ ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ  ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุทั้งหลาย! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ… เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ… เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ สมัยนั้นสติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ( ต่อไปนี้มีข้อความอย่างเดียวกันกับกรณีแห่งการตามเห็นกายในกายทุกตัวอักษร )


โพชฌงค์บริบูรณ์ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ?

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในกรณีนี้

       ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ ( ความจางคลาย ) อันอาศัยนิโรธ ( ความดับ ) อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ ( ความสละ ความปล่อย )   

       ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดังนี้


( หมายเหตุผู้รวบรวม พระสูตรที่ทรงตรัสเหมือนกันกับพระสูตรข้างบนนี้ ยังมีอีกคือ ปฐมอานันทสูตร มหาวาร. สํ. 19/417-423/1381-1398. ทุติยอานันทสูตร มหาวาร. สํ. 19/423-424/1399-1401. ทุติยภิกขุสูตร มหาวาร. สํ.19/425/1404-1405. )

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์  /  หัวข้อเลขที่ : 3  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/424/1402-1403.  /  หน้าที่ : 11 , 12 , 13 , 14 , 15 , 16 , 17 , 18 , 19 , 20 , 21 , 22 , 23 , 24  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย  /  หัวข้อใหญ่ : อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้  /  หัวข้อเลขที่ : 11  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/424/1402-1403.  /  หน้าที่ : 40 , 41 , 42 , 43 , 44 , 45 , 46 , 47 , 48 , 49 , 50 , 51 , 52 

- END -