Tuesday, February 16, 2021

อานาปานสติ สามารถกำจัดบาปอกุศลได้ทุกทิศทาง

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานาปานสติ สามารถกำจัดบาปอกุศลได้ทุกทิศทาง 


      อานนท์!  อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

       ก็อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?

       อานนท์!  ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก 

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว 

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       ( แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ )

       อานนท์!  อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ 


       อานนท์!  สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำ กายสังขารให้รำงับ หายใจออก” 

       อานนท์!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย

       อานนท์!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำ งับ หายใจออก” 

       อานนท์!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  เราย่อมกล่าวว่าการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นเวทนาอันหนึ่งๆในเวทนาทั้งหลาย

       อานนท์!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”
 
       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”  

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก” 

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก” 

       อานนท์!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ 

       อานนท์!  เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ

       อานนท์!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  สมัยใด ภิกษุ เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       เธอย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       อานนท์!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา 

       อานนท์!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       อานนท์!  เปรียบเหมือนกองฝุ่นใหญ่มีอยู่ที่หนทางใหญ่ 4 แพร่ง

       ถ้าเกวียนหรือรถมาจากทิศตะวันออก ก็บดขยี้กองฝุ่นนั้น

       ถ้าเกวียนหรือรถมาจากทางทิศตะวันตก ก็บดขยี้กองฝุ่นนั้น

       ถ้าเกวียนหรือรถมาจากทางทิศเหนือ ก็บดขยี้กองฝุ่นนั้น

       ถ้าเกวียนหรือรถมาจากทางทิศใต้ ก็บดขยี้กองฝุ่นนั้น นี้ฉันใด 

       อานนท์!  เมื่อบุคคลมีปกติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ย่อมกำจัดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายโดยแท้ 

       เมื่อบุคคลมีปกติเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ย่อมกำจัดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายโดยแท้

       เมื่อบุคคลมีปกติเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ย่อมกำจัดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายโดยแท้

       เมื่อบุคคลมีปกติเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ย่อมกำจัดบาปอกุศลธรรมทั้งหลายโดยแท้

       ฉันนั้นเหมือนกัน

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : อานาปานสติ สามารถกำจัดบาปอกุศลได้ทุกทิศทาง  /  หัวข้อเลขที่ : 18  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/408/1357.  /  หน้าที่ : 86 , 87 , 88 , 89 , 90 , 91 , 92  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( ขยายความของผู้ทำเว็บไซต์นี้ ) คำพูดที่ว่า "แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนในหน้า 1 - 4 ทุกประการ " นั้น คำว่าหน้า 1 - 4 มีอะไรบ้าง? คำตอบคือ ในหน้า 1 ถึงหน้า 4 ที่พูดถึงนี้คือ หน้า 1 ถึงหน้า 4 ของหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ ซึ่งก็คือเรื่อง "อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ 2 ประการ" นั่นเอง 

- END -