Friday, February 12, 2021

เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4

โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์ 
( อีกสูตรหนึ่ง )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราเป็นผู้ตั้งมั่นแล้วในข้อปฏิบัตินี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วในข้อปฏิบัตินี้ ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงปรารภความเพียรให้ยิ่งกว่าประมาณ เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง  เราจักรอคอยพวกเธอทั้งหลายอยู่ ณ ที่นครสาวัตถีนี้แล จนกว่าจะถึงวันท้ายแห่งฤดูฝนครบสี่เดือน เป็นฤดูที่บานแห่งดอกโกมุท ( เพ็ญเดือนสิบสอง )

       พวกภิกษุเป็นพวกชาวชนบทได้ทราบข่าวนี้ ก็พากันหลั่งไหลไปสู่นครสาวัตถี เพื่อเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระเถระผู้มีชื่อเสียงคนรู้จักมาก ซึ่งมีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระเถระรูปอื่นอีกหลายท่าน แบ่งกันเป็นพวกๆ พากันสั่งสอน พรำ่ชี้แจง พวกภิกษุใหม่ๆอย่างเต็มที่ พวกละสิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูปบ้าง สี่สิบรูปบ้าง ส่วนภิกษุใหม่ๆ เหล่านั้น เมื่อได้รับคำสั่งสอน ได้รับคำพร่ำชี้แจง ของพระเถระผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายอยู่ ก็ย่อมรู้คุณวิเศษอันกว้างขวางอย่างอื่นๆ ยิ่งกว่าแต่ก่อน  จนกระทั่งถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง

       ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายสืบไปว่า


       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบริษัทนี้ ไม่เหลวไหลเลย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบริษัทนี้ไม่เหลวแหลกเลย ภิกษุบริษัทนี้ ตั้งอยู่แล้วในธรรมที่เป็นสาระล้วน

       ภิกษุทั้งหลาย!  บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่น่าบูชา น่าต้อนรับ น่ารับทักษิณา น่าไหว้ เป็นเนื้อนาบุญชั้นดีเยี่ยมของโลก หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ทานอันบุคคลให้น้อย แต่กลับมีผลมาก ทานที่ให้มาก ก็มีผลมากทวียิ่งขึ้น หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะยากที่ชาวโลกจะได้เห็น หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  บริษัทเช่นใด มีรูปลักษณะที่ควรจะไปดูไปเห็น แม้จะต้องเดินสิ้นหนทางนับด้วยโยชน์ๆ ถึงกับต้องเอาห่อสะเบียงไปด้วยก็ตาม หมู่ภิกษุนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น ภิกษุบริษัทนี้ ก็มีรูปลักษณะเช่นนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนเองบรรลุแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบพวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์เบื้องต่ำ 5 เป็นโอปปาติกะแล้ว จักปรินิพพานในที่นั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์ 3 และมีความเบาบางไปของราคะ โทสะ โมหะ เป็น สกทาคามี มาสู่เทวโลกอีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งสิ้นสัญโญชน์ 3 เป็น โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา ผู้เที่ยงแท้ ผู้แน่ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในหมู่ภิกษุนี้ มีพวกภิกษุซึ่งประกอบความเพียรเป็นเครื่องต้องทำเนืองๆ ในการอบรมสติปัฏฐาน 4 , สัมมัปปธาน 4 , อิทธิบาท 4 , อินทรีย์ 5 , พละ 5 , โพชฌงค์ 7 , อริยมรรคมีองค์ 8 , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภะ อนิจจสัญญา และอานาปานสติ พวกภิกษุแม้เห็นปานนี้ ก็มีอยู่ในหมู่ภิกษุนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติสมาธินี้แล ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้


       สติปัฏฐานบริบูรณ์ เพราะอานาปานสติบริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ได้ ?


       หมวดกายานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ  หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำ อภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้ ในสมัยนั้น


       หมวดเวทนานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

       ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก” 

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำ งับ หายใจออก” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมกล่าวการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งหลายว่า  เป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น


       หมวดจิตตานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตหายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่
หายใจออก” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น


       หมวดธัมมานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ย่อมทำ การฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ได้ 


       โพชฌงค์บริบูรณ์ เพราะสติปัฏฐานบริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้
บริบูรณ์ได้ ?


       โพชฌงค์เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้นสติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ความเพียรไม่ย่อหย่อนอันภิกษุผู้เลือกเฟ้น ใคร่ครวญในธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

       ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้วมีความสุขอยู่ ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ

       ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ


       ( โพชฌงค์เจ็ด หมวดเวทนานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ 

       ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำ การเลือก ย่อมทำ การเฟ้น ย่อมทำ การใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา 


       ( ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ดหมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด )


       โพชฌงค์เจ็ด หมวดจิตตานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย! สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว  สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ 

       ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำ การเลือก   ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำ การใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา


       ( ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ด  หมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด ) 


       โพชฌงค์เจ็ด หมวดธัมมานุปัสสนา )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำ อภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ 

       ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา 


       ( ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ด หมวดกายานุปัสสนา จนจบหมวด ) 


       ภิกษุทั้งหลาย!  สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ได้


       วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ เพราะโพชฌงค์บริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ?

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ ( ความจางคลาย ) อันอาศัยนิโรธ ( ความดับ ) อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ ( ความสละ ความปล่อย )

       ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ 

       ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ 

       ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ 

       ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ 

       ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก  อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  โพชฌงค์ทั้ง 7 อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดังนี้


       ( ข้อสังเกต ดังที่ตรัสไว้ แสดงว่าสติปัฏฐานทั้งสี่ ในแต่ละหมวดสมบูรณ์ในตัวเอง คือเข้าถึงโพชฌงค์ที่บริบูรณ์จนกระทั่งวิมุตติได้ทุกหมวด ดังนั้น สติปัฏฐานสี่นั้น ผู้ปฏิบัติจะเจริญหมวดใดหมวดหนึ่งหรือทั้ง 4 หมวดก็ได้เหมือนกัน เพราะสามารถยังวิมุตติให้ปรากฏได้ดุจเดียวกัน - ผู้รวบรวม ) 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อย่อย : เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์ ( อีกสูตรหนึ่ง )  /  หัวข้อเลขที่ : 4  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/190-201/282-291.  /  หน้าที่ : 25 , 26 , 27 , 28 , 29 , 30 , 31 , 32 , 33 , 34 , 35 , 37 , 38 , 39 , 40 , 41 , 42 , 43 , 44 

- END -