Monday, March 29, 2021

การเกิดสังคมมนุษย์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การเกิดสังคมมนุษย์ 

      วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวโดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในอาภัสสระ ( อาภสฺสร ) สัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มี ปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน 

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวโดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ที่โลกนี้จะกลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้นอยู่ โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติ ( เคลื่อน ) จากอาภัสสระ ( อาภสฺสรกายา ) ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มี ปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน

       ก็ในสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ เป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฎ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันและกลางคืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนและปักษ์ก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฎ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลายถึงซึ่งการนับเพียงว่าสัตว์ ( สตฺต ) เท่านั้น

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ได้เกิดมีง้วนดิน ( รสปฐวี ) ขึ้นปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ง้วนดินนี้ลอยอยู่ทั่วไปบนน้ำ เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็น จับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้

       เมื่อสัตว์เหล่านั้น พากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ รสของง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาก็ได้พากันพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ ด้วยมือแล้วบริโภค

       ในคราวที่พากันบริโภคง้วนดินอยู่ รัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็ได้หายไป

       เมื่อรัศมีกายหายไป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมปรากฏ

       เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายย่อมปรากฏ

       เมื่อดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายปรากฏ กลางคืนและกลางวันย่อมปรากฏ

       เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏ เดือนและปักษ์ย่อมปรากฏ

       เมื่อเดือนและปักษ์ปรากฏ ฤดูและปีย่อมปรากฏ

       ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นอีก 

       ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้น พากันบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้น มัวเพลิดเพลินบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม ได้พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป

       เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีกระบิดิน ( ภูมิปปฺปฏิก ) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้กระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินจึงหายไป

       เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีเครือดิน ( ปทาลตา ) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้เครือดินเป็นอาหาร ดำ รงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารถผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป

       เมื่อเครือดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีข้าวสาลีเกิดขึ้น ในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้วงอกขึ้นแทนที่  ตอนเช้าสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้ว งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย  สัตว์เหล่านั้นจึงได้บริโภคข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน 

       ด้วยประการที่สัตว์เหล่านั้นมีข้าวสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ ด้วยว่า สตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างก็เพ่งดูกันและกันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัด เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเหล่านั้นเป็นปัจจัยเขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน

       ในสมัยนั้น สัตว์พวกใด เห็นสัตว์พวกอื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า “คนชาติชั่วจงฉิบหาย คนชาติชั่วจงฉิบหาย” ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า “ก็ทำ ไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำ แก่สัตว์เช่นนี้เล่า” ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในระหว่างที่เขาจะนำสัตว์ผู้ประพฤติชั่วร้ายไปสู่ที่ประหาร พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย

       ในสมัยนั้น การโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้นนั้น สมมติกันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ กลับสมมติกันว่าเป็นธรรม

       ก็สมัยนั้น สัตว์พวกใดเสพเมถุนธรรมกัน สัตว์พวกนั้นเข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายพากันเสพ อสัทธรรม นั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างบ้านเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบัง อสัทธรรม นั้น

       ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้าน จึงได้เก็บข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคเสียคราวเดียวทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น

       ต่อมาสัตว์พวกอื่นก็ถือเอาแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น โดยเก็บข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคเสียคราวเดียวทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็นบ้าง

       เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 2 วันบ้าง เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 4 วันบ้าง เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 8 วันบ้าง

       เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พยายามเก็บสะสมข้าวสาลีไว้เพื่อบริโภค เมื่อนั้นข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวที่มี รำ ห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นแทนที่ ปรากฏความบกพร่องให้เห็น จึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อมๆ

       ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันจับกลุ่มและได้ปรับทุกข์แก่กันและกัน ถึงเรื่องที่มีการปรากฏของ อกุศลธรรม อันเป็นบาป ทำให้สัตว์เหล่านี้จากที่เคยเป็นผู้ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตน แล้วก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงในสมัยที่ดำรงอยู่ด้วยการบริโภคข้าวสาลี ที่มี รำ ห่อเมล็ด มีแกลบหุ้มเมล็ด ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นแทนที่ ปรากฏความบกพร่องให้เห็น จากนั้นจึงได้มีการแบ่งส่วนข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน )

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า “แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย” สัตว์ผู้นั้นได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว

       แม้ครั้งที่ 2 สัตว์ผู้นั้นก็ยังขืนทำเช่นเดิมและรับคำสัตว์ทั้งหลายว่าจะไม่ทำอีก

       แม้ครั้งที่ 3 สัตว์ผู้นั้นก็ยังขืนทำเช่นเดิมอีก

       สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้ตักเตือนว่า “แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย” สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือบ้าง สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ในเพราะมีเหตุเช่นนี้เป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏการติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ

       ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ , การติเตียนจักปรากฏ , การพูดเท็จจักปรากฏ , การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะ อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่าใด อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติ ( แต่งตั้ง ) สัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น” ดังนี้

       ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามกว่า แล้วจึงแจ้งเรื่องนี้ว่า “มาเถิดท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน”

       สัตว์ผู้นั้นรับคำแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น

       เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า อันมหาชนสมมติ ( แต่งตั้ง ) นั้นอักขระว่า มหาชนสมมติ มหาชนสมมติ ( มหาสมฺมต ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก

       เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลายนั้น อักขระว่า กษัตริย์ กษัตริย์ ( ขตฺติย ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2

       เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้า ยังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม อักขระว่า ราชา ราชา ( ราช ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 3

       ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้นจึงมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้

       เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม

       ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในหมู่มหาชน ทั้งในปัจจุบัน ( ทิฏฐธรรม ) และภายหน้า ( อภิสัมปราย )

       ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวก ได้มีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จักปรากฏ , การติเตียนจักปรากฏ , การกล่าวเท็จจักปรากฏ , การถือท่อนไม้จักปรากฏ , การขับไล่จักปรากฏ

       ในเพราะ อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่าใด อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรไป ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปนี้เถิด” ดังนี้ 

       ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากัน ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปทิ้งไป เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากัน ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปอยู่ดังนี้ อักขระว่า พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ ( พฺราหฺมณ ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก 

       พราหมณ์เหล่านั้น พากันสร้างกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า จึงได้พากันเที่ยวแสวงหาอาหาร ตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นและเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก

       คนทั้งหลายเห็นการกระทำของพวกพราหมณ์นั้นแล้ว จึงพากันพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย สัตว์พวกนี้พากันมาสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้นั้น ไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า จึงพากันเที่ยวแสวงหาอาหาร ตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นและเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก” ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌาน ( ฌายิกา ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2
 
       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จฌานได้ ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังบ้านและนิคมที่ใกล้เคียง แล้วก็จัดทำคัมภีร์อยู่ คนทั้งหลายเห็นการกระทำ ของพวกพราหมณ์นี้นั้นแล้วจึงพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เที่ยวไปยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำคัมภีร์อยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่” ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อักขระว่า อัชฌายิกา อัชฌายิกา ( อชฺฌายิกา ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 3
 
       ก็สมัยนั้นการทรงจำ การสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติกันว่าประเสริฐ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นแห่งพวกพราหมณ์นั้นจึงมีขึ้นได้

       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางจำพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสสา เวสสา ( เวสฺสา ) จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นของแพศย์นั้น จึงมีขึ้นได้

       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางจำพวกประพฤติตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อยนั้นแล อักขระว่า สุททา สุททา ( สุทฺทา ) จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นแห่งพวก ศูทร นั้น จึงมีขึ้นได้

       มีสมัยที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้ พวกสมณะจึงเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ เหล่านี้

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมยึดถือกรรมด้วยอำ นาจมิจฉาทิฏฐิ เพราะยึดถือกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมยึดถือกรรมด้วยอำ นาจสัมมาทิฏฐิ เพราะยึดถือกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี มีปกติกระทำกรรมทั้งสอง ( คือสุจริตและทุจริต ) ด้วยกาย มีปกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการกระทำ ด้วยอำ นาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง 7 แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว

       ก็บรรดาวรรณะทั้ง 4 นี้ วรรณะใด เป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว วางภาระเสียได้แล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่มหาชน ทั้งในปัจจุบัน และภายหน้า

       กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : การเกิดสังคมมนุษย์  /  หัวข้อเลขที่ : 58  /  -บาลี ปา. ที. 11/92-107/56-72.  /  หน้าที่ : 203 , 204 , 205 , 206 , 207 , 208 , 209 , 210 , 211 , 212 , 213 , 214 , 215  

- END -