พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ทรงมีปาฏิหาริย์ 3 อย่าง
เรื่อง ทรงมีปาฏิหาริย์ 3 อย่าง
เกวัฏฏะ! นี่ปาฏิหาริย์ 3 อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้ 3 อย่างอะไรเล่า ? 3 อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุศาสนีปาฏิหาริย์
( 1 ) เกวัฏฏะ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า? เกวัฏฏะ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ : ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน ,หลายคนเป็นคนเดียว , ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง , ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่างๆ , ผุดขึ้น และดำลงในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ , เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน , ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์ . ลูบคลำ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้
เกวัฏฏะ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสว่า น่าอัศจรรย์นัก กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี * * * ( 1 ) มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น ( หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่ ) , เกวัฏฏะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใส ได้อย่างนั้น มิใช่หรือ
“พึงตอบได้, พระองค์ !”
เกวัฏฏะ! เราเห็นโทษในการแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ดังนี้แล จึงอึดอัดขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออิทธิปาฏิหาริย์
( 2 ) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. … กุลบุตร ผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใสว่า วิชาชื่อ มณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้นกล่าวทายใจได้เช่นนั้นๆ ก็ด้วยวิชานั้น ( หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่ ) , เกวัฏฏะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?
“พึงตอบได้, พระองค์ !”
เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดง อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหาริย์
( 3 ) เกวัฏฏะ ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? เกวัฏฏะ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ๆ อย่าตรึกอย่างนั้นๆ , จงทำ ไว้ในใจอย่างนี้ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้นๆ จงละสิ่งนี้ๆ เสีย , จงเข้าถึงสิ่งนี้ๆ แล้วแลอยู่ ดังนี้ นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์ เกวัฏฏะ! * * * ( 2 ) เหล่านี้แล เป็นปาฏิหาริย์ 3 อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีมีนามคันธาระ , อีกอย่างหนึ่งว่าในแคว้นคันธาระ - ผู้แปล
* * * ( 2 ) ระหว่างนี้ ทรงแสดงข้อปฏิบัติ เรื่องศีล สันโดษ สติสัมปชัญญะ … ว่าเป็นอนุศาสนีปาฏิหาริย์ของพระองค์ อันหนึ่งๆ ทุกอัน - ผู้แปล
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : ลักษณะพิเศษของตถาคต / หัวข้อย่อย : ทรงมีปาฏิหาริย์ 3 อย่าง / หัวข้อเลขที่ : 139 / -บาลี สี. ที. 9/273/339. / หน้าที่ : 345 , 346 , 347
- END -