พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ทรงต่างจากเทวดาและมนุษย์
เรื่อง ทรงต่างจากเทวดาและมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในรูป บันเทิงด้วยรูป เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปของรูป
ภิกษุทั้งหลาย! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมีเสียง … , มีกลิ่น … , มีรส … , มีโผฏฐัพพะ … , มีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ บันเทิงด้วยธรรมารมณ์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปของธรรมารมณ์
ภิกษุทั้งหลาย! ส่วนตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมา สัมพุทธะ รู้แจ้งตามเป็นจริงซึ่งเหตุเป็นเครื่องเกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษ คือความต่ำทราม และอุบายเครื่องหลุดพ้นออกไปได้ แห่งรูปทั้งหลายแล้ว ; ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี ไม่ยินดีในรูป ไม่บันเทิงด้วยรูป
ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไปของรูป , ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตรู้แจ้งตามเป็นจริง ซึ่งเหตุเป็นเครื่องเกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษ คือความต่ำทราม และอุบายเครื่องหลุดพ้นออกไปได้แห่งเสียงทั้งหลาย แห่งกลิ่นทั้งหลาย แห่งรสทั้งหลาย แห่งโผฏฐัพพะทั้งหลาย และแห่งธรรมารมณ์ทั้งหลายแล้ว ; ไม่เป็นผู้มีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี ไม่ยินดี ไม่บันเทิง ด้วยเสียง เป็นต้น
ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข เพราะความแปรปรวน ความเสื่อมสลาย และความดับไป แห่งธรรมมีเสียงเป็นต้นนั้นๆ รูปทั้งหลาย เสียงทั้งหลาย กลิ่นทั้งหลาย รสทั้งหลาย ผัสสะทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้น อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ยังเป็นสิ่งกล่าวได้ว่ามีอยู่เพียงใด มนุษยโลกพร้อมด้วยเทวโลก ก็ยังสมมติว่า “นั่นสุข” อยู่เพียงนั้น ถ้าเมื่อสิ่งเหล่านั้นแตกดับลงในที่ใด , สัตว์เหล่านั้น ก็สมมติว่า “นั่นทุกข์” ในที่นั้น
สิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่า เป็นความสุข ก็คือความดับสนิทแห่งสักกายะทั้งหลาย , แต่สิ่งนี้กลับปรากฏเป็นข้าศึกตัวร้ายกาจ แก่สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นอยู่โดยความเป็นโลกทั้งปวง
สิ่งใด ที่สัตว์อื่นกล่าวแล้วโดยความเป็นสุข , พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นทุกข์
สิ่งใดที่สัตว์อื่น กล่าวแล้วโดยความเป็นทุกข์ , พระอริยะผู้รู้ กล่าวสิ่งนั้นโดยความเป็นสุข , ดังนี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : ลักษณะพิเศษของตถาคต / หัวข้อย่อย : ทรงต่างจากเทวดาและมนุษย์ / หัวข้อเลขที่ : 148 / -บาลี เอก. อํ. 20/29/141. / หน้าที่ : 361 , 362
- END -