Monday, March 29, 2021

เหตุให้สุคติปรากฏ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุให้สุคติปรากฏ 

      จุนทะ! ความสะอาดทางกายมี 3 อย่าง ความสะอาดทางวาจามี 4 อย่าง ความสะอาดทางใจมี 3 อย่าง

       จุนทะ!  ความสะอาดทางกาย มี 3 อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

       จุนทะ!  บุคคลบางคนในกรณีนี้

       ( 1 ) ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่

       ( 2 ) ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ถือเอาทรัพย์และอุปกรณ์แห่งทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี ด้วยอาการแห่งขโมย

       ( 3 ) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ( คือเว้นจากการประพฤติผิด ) ในหญิงซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ ( ด้วยการคล้องพวงมาลัย ) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น

       จุนทะ!  อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง

       จุนทะ!  ความสะอาดทางวาจา มี 4 อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

       จุนทะ!  บุคคลบางคนในกรณีนี้

       ( 1 ) ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้  เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่

       ( 2 ) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้วไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้วไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน 

       ( 3 ) ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่ 

       ( 4 ) ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา

       จุนทะ!  อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางวาจา 4 อย่าง

       จุนทะ!  ความสะอาดทางใจ มี 3 อย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

       จุนทะ!  บุคคลบางคนในกรณีนี้

       ( 1 ) เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา คือเป็นผู้ไม่โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้ 

       ( 2 ) เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่ประทุษร้ายว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุข บริหารตนอยู่เถิด” ดังนี้ เป็นต้น 

       ( 3 ) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว มี ( ผล ) ยัญที่บูชาแล้ว มี ( ผล ) การบูชาที่บูชาแล้ว มี ( ผล ) ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี , โลกนี้ มี , โลกอื่น มี , มารดา มี , บิดา มี , โอปปาติกะสัตว์ มี , สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้ 

       จุนทะ!  อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางใจ 3 อย่าง

       จุนทะ!  เหล่านี้แล เรียกว่า กุศลกรรมบถ 10

       จุนทะ!  อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยกุศล กรรมบถทั้ง 10 ประการเหล่านี้เป็นเหตุ พวกเทพจึงปรากฏ พวกมนุษย์จึงปรากฏ หรือว่าสุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี

       ภิกษุทั้งหลาย !  บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 10 ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในสวรรค์

       ( สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี 10 ได้ทรงขยายออกไปเป็น 20 คือ ทำเอง 10 ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีก 10

       และทรงขยายออกไปเป็น 30 คือ ทำเอง 10 ชักชวนผู้อื่นให้ทำ 10 ยินดีเมื่อเขาทำ 10

       และทรงขยายออกไปเป็น 40 คือ ทำเอง 10 ชักชวนผู้อื่นให้ทำ 10 ยินดีเมื่อเขาทำ 10 สรรเสริญผู้กระทำ 10

       จึงมีกรรมบถ 10 , 20 , 30 , 40  -บาลี ทสก. อํ. 24/352-332/198-201. ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไปจากคำว่า “เหมือนถูกนำ ไปเก็บไว้ในสวรรค์” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “ผู้ไม่ขุดรากตนเอง” ก็มี “ตายแล้วไปสุคติ” ก็มี “เป็นบัณฑิต” ก็มี -บาลี ทสก. อํ. 24/332-333/202-203. )  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : เหตุให้สุคติปรากฏ  /  หัวข้อเลขที่ : 46  /  -บาลี ทสก. อํ. 24/287-290 , 306/165 , 189.  /  หน้าที่ : 160 , 161 , 162 , 163 , 164  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : กุศลกรรมบถ 10  /  หัวข้อเลขที่ : 47  /  -บาลี ทสก. อํ. 24/287-290 , 306/165 , 189.  /  หน้าที่ : 129 , 130 , 131 , 132 , 133 

- END -