พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
เรื่อง เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์
พราหมณ์! ในสมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ ของพระเจ้ามหาวิชิตราช
พราหมณ์! เรื่องมีแล้วในกาลก่อน พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นราชาผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก มีทองและเงินเหลือเฟือ มีอุปกรณ์ของทรัพย์เหลือเฟือ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเหลือเฟือ มียุ้งฉางเต็มล้น วันหนึ่ง ประทับอยู่ ณ ที่สงัด เกิดพระดำริว่า ‘เราได้เสวยมนุษยสมบัติอันวิบูล ครอบครองปฐพีมณฑลอันใหญ่ยิ่ง ถ้ากระไรเราควรบูชามหายัญญ์ อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เราสิ้นกาลนาน’ รับสั่งให้หาพราหมณ์ปุโรหิตมาบอกพระดำรินี้แล้ว ขอให้บอกสอนวิธีการบูชายัญญ์
พราหมณ์! ปุโรหิตได้ทูลสนองพระดำรัสนั้นว่า ‘แว่นแคว้นของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนามหลักตอ การปล้นฆ่าในหมู่บ้านก็ยังปรากฏ การปล้นฆ่าในจังหวัดก็ยังปรากฏ การปล้นฆ่าในนครก็ยังปรากฏ การแย่งชิงตามระยะหนทางก็ยังปรากฏ และถ้าพระองค์จะให้เลิกเก็บส่วย ในขณะที่แว่นแคว้นเป็นไปด้วยเสี้ยนหนามหลักตอเช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่าทำ กิจไม่ควรทำ
อีกประการหนึ่ง พระองค์อาจมีพระดำริว่า เราจักถอนหลักตอ คือ โจรผู้ร้ายเสียได้ด้วยการประหาร การจองจำ การริบ การประจาน หรือการเนรเทศ ดังนี้ ข้อนี้ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการกำจัดได้ราบคาบด้วยดี เพราะผู้ที่ยังเหลือจากการถูกประหารก็ยังมี ชนพวกนี้จะเบียดเบียนชนบทของพระองค์ในภายหลัง
แต่ว่ามีอุบายที่จะถอนหลักตอเหล่านั้นให้ราบคาบด้วยดีได้ คือ ชนเหล่าใดบากบั่นเลี้ยงโคเพื่อกสิกรรม พระองค์จงประทานพืชพันธุ์ข้าวแก่ชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดบากบั่นในวาณิชยกรรม พระองค์จงประทานเงินเพิ่มให้ชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดเป็นข้าราชการ ขอพระองค์จงประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ชนพวกนั้น มนุษย์เหล่านั้น ต่างจะขวนขวายในการงานของตน ไม่เบียนเบียนแว่นแคว้นของพระองค์ และพระคลังหลวงก็จะเพิ่มพูนมากมาย แว่นแคว้นจะตั้งอยู่ด้วยความเกษม ปราศจากเสี้ยนหนามหลักตอ พวกมนุษย์จะร่าเริงบันเทิง นอนชูบุตรให้เต้นฟ้อนอยู่บนอก แม้จักไม่ปิดประตูเรือน ในเวลาค่ำ คืนก็เป็นอยู่ได้’…
…พราหมณ์! ครั้นชนบทนั้นสงบจากเสี้ยนหนามหลักตอแล้ว ปุโรหิตจึงกราบทูลวิธีแห่งมหายัญญ์ ( อันประกอบ
ด้วยบริกขารสิบหก คือ ได้รับความยินยอมเห็นพ้องจากกษัตริย์เมืองออกจากอมาตยบริษัท จากพราหมณ์มหาศาล และจากคหบดีมหาศาล นี้จัดเป็นบริกขาร 4 , พระเจ้ามหาวิชิตประกอบด้วยองคคุณ 8 มีพระชาติอันดี มีพระรูปสง่างามเป็นต้น นี้เป็นบริกขารอีก 8 ; และปุโรหิตประกอบด้วยองคคุณ 4 มีความเป็นผู้มีชาติบริสุทธิ์ และจบเวทเป็นต้น นี่เป็นบริกขารอีก 4 รวมเป็น 16 ;
และกราบทูลประการสามแห่งยัญญ์ คือ ผู้บูชาต้องไม่เกิดวิปฏิสารด้วยความตระหนี่ ทั้งในขณะจะบูชา บูชาอยู่ และบูชาเสร็จแล้ว ; แล้วกราบทูลเหตุไม่ควรวิปฏิสาร เพราะปฏิคาหกผู้มารับทาน 10 จำพวก เช่นเป็นคนทำ ปาณาติบาต อทินนาทาน … เป็นต้น , เพื่อไม่ให้เกิดเสียพระทัยว่าคนเลวๆ มารับทาน ) …
พราหมณ์! ในการบูชายัญญ์นั้น โค แพะ แกะ ไก่ สุกร ไม่ได้ถูกฆ่า สัตว์อื่นๆ ก็ไม่ต้องได้รับความวิบัติพลัดพราก ต้นไม้ก็ไม่ถูกตัดมาเพื่อหลักยัญญ์ , เชื้อเพลิงก็ไม่ถูกเกี่ยวตัดมา เพื่อการเบียดเบียนสัตว์ใดให้ลำบาก พวกที่เป็นทาส เป็นคนใช้ และกรรมกร ก็ไม่ต้องถูกคุกคามด้วยอาชญา และความกลัว , ไม่ต้องร้องไห้น้ำตานองหน้าพลางทำการงานพลาง ใครปรารถนาจะทำ ก็ทำ , ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ , ปรารถนาทำสิ่งใด ก็ทำเฉพาะสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาทำสิ่งใด ก็ไม่ต้องทำสิ่งนั้น
ยัญญ์นั้น สำเร็จไปแล้วด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำ ผึ้ง น้ำ อ้อย. …
พราหมณ์! เรารู้ชัดเจนอยู่ ซึ่งหมู่ชนเหล่านั้นๆ ผู้บูชายัญญ์อย่างนี้แล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะกายแตก ย่อมบังเกิด ณ สุคติโลกสวรรค์
พราหมณ์! ในสมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : เรื่องที่ทรงตรัสเกี่ยวกับอดีตชาติของพระองค์ / หัวข้อย่อย : เคยบังเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์ / หัวข้อเลขที่ : 156 / -บาลี สี. ที. 9/171/205. / หน้าที่ : 379 , 380 , 381 , 382
- END -