พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน ( นัยที่ 2 )
เรื่อง ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน ( นัยที่ 2 )
ภิกษุทั้งหลาย! กำลัง 4 ประการเหล่านี้มีอยู่
4 ประการเป็นอย่างไร คือ
( 1 ) กำลัง คือ ปัญญา
( 2 ) กำลัง คือ ความเพียร
( 3 ) กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ
(4) กำลัง คือ การสงเคราะห์
ภิกษุทั้งหลาย! ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นอย่างไร
ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมดำ นับว่าเป็นธรรมดำ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมขาว นับว่าเป็นธรรมขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ด้วยปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า กำลัง คือ ปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย! ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นอย่างไร
ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมดำนับว่าเป็นธรรมดำ ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ บุคคลย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมขาว นับว่าเป็นธรรมขาว ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นอริยะ บุคคลย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อให้ได้ธรรมเหล่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า กำลัง คือความเพียร
ภิกษุทั้งหลาย! ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นอย่างไร
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย! ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นอย่างไร
ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 ประการนี้ คือ
( 1 ) ทาน ( การให้ )
( 2 ) เปยยวัชชะ ( การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก )
( 3 ) อัตถจริยา ( การประพฤติประโยชน์ )
( 4 ) สมานัตตตา ( ความมีตนเสมอกัน )
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย! การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก
ภิกษุทั้งหลาย! การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในสีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ! พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี พระอนาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้เรียกว่า กำลัง คือ การสงเคราะห์
ภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้แล คือ กำลัง 4 ประการ
ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง 4 ประการเหล่านี้ ย่อมก้าวล่วงภัย 5 ประการ คือ
( 1 ) อาชีวิตภัย ( ภัยอันเนื่องด้วยชีวิต )
( 2 ) อสิโลกภัย ( ภัยคือการติเตียน )
( 3 ) ปริสสารัชภัย ( ภัยคือความครั่นคร้ามในบริษัท )
( 4 ) มรณภัย ( ภัยคือความตาย )
( 5 ) ทุคติภัย ( ภัยคือทุคติ )
ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักต้องกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เพราะเรามีกำลัง 4 ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนมีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต
เราไม่กลัวต่อภัยคือการติเตียน ...
เราไม่กลัวต่อภัยคือความครั่นคร้ามในบริษัท ...
เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย ...
เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักต้องกลัวต่อภัยคือทุคติเล่า เพราะเรามีกำลัง 4 ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทราม จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนเกียจคร้าน จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนมีการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร จึงกลัวภัยคือทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง 4 ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย 5 ประการเหล่านี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน / หัวข้อใหญ่ : การให้ทานอันเป็นอริยะ / หัวข้อย่อย : ธรรมทานเลิศกว่าอามิสทาน ( นัยที่ 2 ) / หัวข้อเลขที่ : 75 / -บาลี นวก. อํ. 23/439/209. / หน้าที่ : 175 , 176 , 177 , 178 , 179
- END -