Thursday, March 18, 2021

ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมไม่กล่าวขัดแย้ง ( วิวาท ) กะโลก แต่โลกต่างหาก ย่อมกล่าวขัดแย้งต่อเรา  ภิกษุทั้งหลาย!  ผู้เป็นธรรมวาที ย่อมไม่กล่าวขัดแย้งกะใครๆในโลก  ภิกษุทั้งหลาย!  สิ่งใดที่บัณฑิตในโลก สมมติ ( รู้เหมือนๆ กัน ) ว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี  ภิกษุ ทั้งหลาย!  สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าว สิ่งนั้นว่ามี

       ภิกษุทั้งหลาย!  อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติ ว่าไม่มี และเราก็กล่าวว่าไม่มี?

       ภิกษุทั้งหลาย!  รูป ที่เที่ยง ที่ยั่งยืน ที่เที่ยงแท้ ที่ไม่มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าไม่มี. ( ในกรณีแห่งเวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว ) ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี และเรา ก็กล่าวว่าไม่มี

       ภิกษุทั้งหลาย!  อะไรเล่า ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามี

       ภิกษุทั้งหลาย!  รูป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวว่ามี  ( ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว )  ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้แล ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี และเราก็กล่าวว่ามี , ดังนี้

       ( ในบาลี โปฏฐปาทสูตร สี.ที. 9/248/312 ,  มีตรัสว่า พระองค์ ( ตถาคต ) ก็ทรงกล่าวด้วยถ้อยคำ หรือว่าภาษาที่ชาวโลกกล่าว , แต่ไม่ทรงยึดถือเหมือนอย่างที่ชาวโลกกล่าวนั้น

       ใน ทีฆนขสูตร -บาลี ม.ม. 13/268/273 , มีตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่กล่าวคำประจบกับใครๆ ไม่กล่าวคำขัดแย้งใครๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก ภิกษุนั้นก็กล่าวด้วยโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นความหมายใดๆ อย่างชาวโลก ; คำว่า “ภิกษุ” ในคำตรัสนั้น เล็งถึงพระองค์เองก็ได้ เพราะพระองค์ก็รวมอยู่ในคำว่าพระอรหันต์ด้วย ซึ่งเป็นพระอรหันต์ประเภทสัมมาสัมพุทธะ , เป็นอันว่าพระองค์ มีหลักในการตรัสดังนั้น - ผู้แปล )

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต  /  หัวข้อใหญ่ : ทรงเผยแผ่พระศาสนา  /  หัวข้อย่อย : ทรงมีการกล่าวที่ไม่ขัดแย้งกับบัณฑิตชนในโลก  /  หัวข้อเลขที่ : 92  /  -บาลี ขนฺธ. สํ. 17/169/239.  /  หน้าที่ : 238 , 239 

- END -