Monday, March 8, 2021

การให้ทานอันเป็นอริยะ ( นัยที่ 3 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การให้ทานอันเป็นอริยะ ( นัยที่ 3 )

      ภิกษุ!  เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน เพราะอาศัยน้ำมันและไส้แล้วจึงลุกโพลงอยู่ได้ เมื่อหมดน้ำมันและหมดไส้ พร้อมกับไม่เติมน้ำมันและไส้อีก ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อแล้วดับไป ภิกษุ! ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลนั้น เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบ และย่อมรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวง อันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิตเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจเป็นอย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้ ก็ปัญญานี้ คือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ

       ภิกษุ!  เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ ส่วนสิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดาได้แก่นิพพานนั้นจริง  ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้ ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง

       อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อมสมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ( การบริจาค ) อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้ ก็จาคะนี้ คือความสลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

       อนึ่ง บุคคลนั้นแลยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีความโลภ ( อภิชฌา ) ความพอใจ ( ฉันทะ ) ราคะกล้า ( สาราคะ ) ความอาฆาต ( อาฆาตะ ) ความพยาบาท ( พยาปาทะ ) ความคิดประทุษร้าย ( สัมปะโทโส ) ความไม่รู้ ( อวิชชา ) ความหลงพร้อม ( สัมโมโห ) ความหลงงมงาย ( สัมปะโมโห ) อกุศลธรรมนั้นๆเป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะ ( ความสงบ ) อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง

       ภิกษุ!  ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยเนื้อความนี้กล่าวแล้ว 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : การให้ทานอันเป็นอริยะ  /  หัวข้อย่อย : การให้ทานอันเป็นอริยะ ( นัยที่ 3 )  /  หัวข้อเลขที่ : 78  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/444/691.  /  หน้าที่ : 183 , 184 , 185 

- END -