พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เสด็จสำนักอาฬารดาบส
เรื่อง เสด็จสำนักอาฬารดาบส
เรานั้น ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่ง ไปกว่า ; ได้เข้าไปหาอาฬารดาบสผู้กาลามโคตรถึงที่สำนัก แล้วกล่าวว่า “ท่านกาลามะ! เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้ด้วย”
ราชกุมาร! ครั้นเรากล่าวดังนี้แล้ว อาฬารดาบส ผู้กาลามโคตรได้ตอบว่า
“อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ! ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ๆ ; ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว ไม่นานเลยคงทำให้แจ้ง บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ทั่วถึง ลัทธิของอาจารย์ตน”
ราชกุมาร! เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร! เรานั้นกล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และ เถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก และด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบ ตลอดกาลเท่านั้น อนึ่ง เราและศิษย์อื่นๆ ปฏิญญา ได้ว่าเรารู้เราเห็นดังนี้ ราชกุมาร! ความรู้สึกเกิดขึ้นแก่เราว่า “อาฬารผู้กาลามโคตรประกาศให้ผู้อื่นทราบว่า ‘เราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้ , ที่แท้อาฬาร ผู้กาลามโคตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่”
ราชกุมาร! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตร ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ท่านกาลามะ! ท่านทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วและประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ ?” ครั้นเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารผู้กาลามโคตรได้ ประกาศให้รู้ถึง อากิญจัญญายตนะ แล้ว
ราชกุมาร! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ศรัทธา , วิริยะ , สติ , สมาธิ , ปัญญา จักมีแต่ของอาฬารผู้กาลามโคตรผู้เดียวก็หาไม่ ศรัทธา , วิริยะ , สติ , สมาธิ , ปัญญา ของเราก็มีอยู่ ; อย่างไร ก็ตาม เราจักตั้งความเพียร ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านกาลามะ ประกาศแล้วว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ดังนี้ ให้จงได้”
ราชกุมาร ! เราได้บรรลุทำให้แจ้งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย
ราชกุมาร! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตร ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “มีเท่านี้หรือที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่?”
“เท่านี้เองผู้มีอายุ! ที่เราบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่”
“ท่านกาลามะ ! แม้เราก็บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองถึงเพียงนั้นเหมือนกัน”
ราชกุมาร! อาฬารผู้กาลามโคตรได้กล่าวกะเราว่า
“ลาภของเราแล้วท่านผู้มีอายุ! เราได้ดีแล้ว , ท่านผู้มีอายุ! มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์เช่นกับท่าน ผู้ทำให้แจ้งธรรมที่เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง , แม้เราก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้นอย่างเดียวกันเรารู้ธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น , ท่านรู้ธรรมใด เรารู้ธรรมนั้น , เราเป็นเช่นใด ท่านเป็นเช่นนั้น , ท่านเป็นเช่นใด เราเป็นเช่นนั้น ; มาเถิดท่านผู้มีอายุ! เราสองคนด้วยกันจักช่วยกันปกครองคณะนี้ต่อไป”
ราชกุมาร! อาฬารกาลามโคตรผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอด้วยตนแล้ว , ได้บูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ราชกุมาร! ( เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์ ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น ) ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า “ก็ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิท เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ก็หาไม่ , แต่เป็นไปพร้อมเพียงเพื่อการบังเกิดใน อากิญจัญญายตนภพ เท่านั้นเอง”
ราชกุมาร! ตถาคต ( เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้ง 7 ) จึงไม่พอใจ เบื่อจากธรรมนั้น หลีกไปเสีย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : เริ่มแต่ออกบรรพชาแล้วเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้ ทรมานพระองค์ จนได้ตรัสรู้ / หัวข้อย่อย : เสด็จสำนักอาฬารดาบส / หัวข้อเลขที่ : 36 / -บาลี ม. ม. 13/443-446/489. ยังมีตรัสในพระสูตรอื่นอีก คือ สคารวสูตร -บาลี ม. ม. 13/670/738 , ปาสราสิสูตร -บาลี มู. ม. 12/318/317 , มหาสัจจกสูตร -บาลี มู. ม. 12/442/411. -ผู้แปล / หน้าที่ : 75 , 76 , 77 , 78
- END -