พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เสด็จสำนักอุทกดาบส
เรื่อง เสด็จสำนักอุทกดาบส
ราชกุมาร ! เรานั้นแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า ; ได้เข้าไปหาอุทกดาบสผู้รามบุตรถึงที่สำนัก แล้วกล่าวว่า “ท่านรามะ! เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ด้วย”
ราชกุมาร! ครั้นเรากล่าวดังนี้ ท่านอุทกผู้รามบุตร ได้กล่าวตอบว่า
“อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ! ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ๆ ; ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว ไม่นานเลย คงทำให้แจ้ง บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ทั่วถึงลัทธิของอาจารย์ตน”
ราชกุมาร! เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย
ราชกุมาร! เรานั้นกล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และ เถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก ด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบตลอดกาลเท่านั้น อนึ่ง เราและศิษย์อื่นๆ ปฏิญญาได้ว่าเรารู้เราเห็นดังนี้
ราชกุมาร! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “อุทกผู้รามบุตรได้ประกาศว่า ‘เราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้ , ที่แท้อุทกผู้รามบุตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่”
ราชกุมาร ! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า
“ท่านรามะ! ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว และประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ ?”
ครั้นเรากล่าวอย่างนี้ อุทกรามบุตรได้ประกาศให้รู้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ราชกุมาร! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ศรัทธา , วิริยะ , สติ , สมาธิ , ปัญญา จักมีแต่ของอุทกรามบุตรผู้เดียวก็หาไม่ ศรัทธา , วิริยะ , สติ , สมาธิ , ปัญญา ของเราก็มีอยู่ ; อย่างไรก็ตาม เราจักตั้งความเพียร ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านรามะประกาศแล้วว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ดังนี้ ให้จงได้”
ราชกุมาร ! เราได้บรรลุทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย
ราชกุมาร! ครั้งนั้น เราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “มีเท่านี้หรือที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่?”.
“เท่านี้เองผู้มีอายุ! ที่เราบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วประกาศแก่ผู้อื่น”
“ท่านรามะ! ถึงเราก็ได้บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเท่านั้นเหมือนกัน”
ราชกุมาร! อุทกผู้รามบุตรได้กล่าวกะเราว่า
“ลาภของเราแล้ว ท่านผู้มีอายุ! เราได้ดีแล้ว , ท่านผู้มีอายุ! มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์เช่นกับท่าน ผู้ทำให้แจ้งธรรมที่รามะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง , แม้รามะก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้นอย่างเดียวกัน รามะรู้ทั่วถึงธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น , ท่านรู้ธรรมใด รามะรู้ทั่วถึงธรรมนั้น , รามะเป็นเช่นใด ท่านเป็นเช่นนั้น , ท่านเป็นเช่นใด รามะเป็นเช่นนั้น ; มาเถิดท่านผู้มีอายุ! ท่านจงปกครองคณะนี้ต่อไป”
ราชกุมาร! อุทกรามบุตรเมื่อเป็นสพรหมจารีต่อเรา ก็ได้ตั้งเราไว้ในฐานะแห่งอาจารย์นั่นเทียว ; ได้บูชาเราด้วยการบูชาอันยิ่ง
ราชกุมาร! ( เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์ ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น ) ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า “ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิท เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ก็หาไม่ , แต่เป็นไปพร้อม เพียงเพื่อการบังเกิดใน เนวสัญญานาสัญญายตนภพ เท่านั้นเอง”
ราชกุมาร! ตถาคต ( เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้ง 8 ) จึงไม่พอใจในธรรมนั้น เบื่อหน่ายจากธรรมนั้น หลีกไปเสีย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : เริ่มแต่ออกบรรพชาแล้วเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้ ทรมานพระองค์ จนได้ตรัสรู้ / หัวข้อย่อย : เสด็จสำนักอุทกดาบส / หัวข้อเลขที่ : 37 / -บาลี ม. ม. 13/446-448/490 * * * ยังมีตรัสในพระสูตรอื่นอีก คือ สคารวสูตร -บาลี ม. ม. 13/672/739 , ปาสราสิสูตร -บาลี มู. ม. 12/320/318 , มหาสัจจกสูตร -บาลี มู. ม. 12/444/412. -ผู้แปล / หน้าที่ : 79 , 80 , 81 , 82
- END -