พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ทรงคอยควบคุมวิตก ก่อนตรัสรู้
เรื่อง ทรงคอยควบคุมวิตก ก่อนตรัสรู้
ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ , ได้เกิดความรู้สึกอันนี้ขึ้นว่าเราพึงทำวิตกทั้งหลายให้เป็นสองส่วนเถิด
ภิกษุทั้งหลาย! เราได้ทำ กามวิตก พ๎ยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก 3 อย่างนี้ ให้เป็นส่วนหนึ่ง , ได้ทำ เนกขัมมวิตก อัพ๎ยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก 3 อย่างนี้ให้เป็นอีกส่วนหนึ่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ กามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดแก่เราแล้ว , กามวิตกนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ( คือทั้งตนและผู้อื่น ) บ้าง , เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่ … อย่างนี้ กามวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย! เราได้ละและบรรเทากามวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ พ๎ยาปาทวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า พ๎ยาปาทวิตกเกิดแก่เราแล้ว , ก็พ๎ยาปาทวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง , เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่ … อย่างนี้ พ๎ยาปาทวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย! เราได้ละและบรรเทาพ๎ยาปาทวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ วิหิงสาวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า วิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว , ก็วิหิงสาวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง , เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่ … อย่างนี้ วิหิงสาวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย! เราได้ละและบรรเทาวิหิงสาวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงกามวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละเนกขัมมวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งกามวิตก ; จิตของเธอนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละอัพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งพ๎ยาปาทวิตก , จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท ถ้าภิกษุตรึกตาม ตรองตาม ถึงวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละอวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งวิหิงสาวิตก , จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบ เพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษ คือการถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ ข้อนี้ฉันใด , ภิกษุทั้งหลาย! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทรามเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย , เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้น … * * * ( 1 ) อัพ๎ยาปาทวิตกย่อมเกิดขึ้น … อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว , ก็อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย , แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้น เพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดวัน , หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้นเพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเราคิดเห็นว่า เมื่อเราตรึกตาม ตรองตามนานเกินไปนัก กายจะเมื่อยล้า , เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย , เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ , เราจึงได้ดำรงจิตให้หยุดอยู่ในภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้ ด้วยหวังอยู่ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงเนกขัมมวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก ; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึกในการออกจากกาม ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอัพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำ แล้วอย่างมากในอัพ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากใน อวิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมดเขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้ เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ พึงทำ แต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโคดังนี้ ( ก็พอแล้ว ) ฉันใด , ภิกษุทั้งหลาย! ถึงภิกษุก็เพียงแต่ทำ ความระลึกว่า นั่นธรรมทั้งหลายดังนี้ ( ก็พอแล้ว ) ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย! ความเพียรเราได้ปรารภแล้วไม่ ย่อหย่อน สติเราได้ดำรงไว้แล้วไม่ฟั่นเฟือน กายสงบระงับ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่นมีอารมณ์อันเดียวแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! เรานั้น เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้เข้าถึงปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่ วิเวกแล้วแลอยู่ ( ข้อความต่อไปนี้เหมือนในตอนที่กล่าวด้วยการ ตรัสรู้ ในหัวข้อว่า “อาการแห่งการตรัสรู้” ที่หน้า 178 ; จนกระทั่งจบ วิชชาที่ 3 )
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) ที่ละด้วยจุดนี้ หมายความว่าตรัสทีละวิตก แต่คำตรัสเหมือนกันหมด ผิดแต่ชื่อเท่านั้น, ทุกๆ วิตกมีเนื้อความอย่างเดียวกัน - ผู้แปล
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : เริ่มแต่ออกบรรพชาแล้วเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้ ทรมานพระองค์ จนได้ตรัสรู้ / หัวข้อย่อย : ทรงคอยควบคุมวิตก ก่อนตรัสรู้ / หัวข้อเลขที่ : 48 / -บาลี มู. ม. 12/232/252. / หน้าที่ : 117 , 118 , 119 , 120 , 121 , 122
- END -