Monday, March 15, 2021

ทรงกำหนดสมาธินิมิต ก่อนตรัสรู้

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทรงกำหนดสมาธินิมิต ก่อนตรัสรู้ 

      อนุรุทธะทั้งหลาย!  นิมิตนั้นแหละ เธอพึงแทงตลอดเถิด แม้เราเมื่อครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็จำแสงสว่างและการเห็นรูปทั้งหลายได้  ต่อมาไม่นาน แสงสว่างและการเห็นรูปของเรานั้นๆ ได้หายไป เกิดความสงสัยแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้แสงสว่างและการเห็นรูปนั้นหายไป?

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  เมื่อคิดอยู่ ก็เกิดความรู้ ( ดังต่อไปนี้ ) ว่า : - วิจิกิจฉา ( ความลังเล ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว ก็เพราะมีวิจิกิจฉาเป็นต้นเหตุ  ครั้นสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา จะไม่บังเกิดขึ้นแก่เราได้อีก … ( มีคำระหว่างนี้เหมือนท่อนต้น ไม่มีผิด ทุกตอน ตั้งแต่คำว่า ต่อมาไม่นาน จนถึงคำว่า เกิดความรู้ ( ดังต่อไปนี้ ) ว่า :- ) 

       อมนสิการ ( ความไม่ทำไว้ในใจ คือไม่ใส่ใจ ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว ก็เพราะมีอมนสิการ เป็นต้นเหตุ  ครั้นสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูป ย่อมหายไป  เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา  และอมนสิการ จะไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

       ถีนมิทธะ ( ความเคลิ้มและง่วงงุน ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีถีนมิทธะเป็นต้นเหตุ  ครั้นสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป  เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , และถีนมิทธะ จะไม่บังเกิดขึ้นแก่เราได้อีก

       ฉัมภิตัตตะ ( ความสะดุ้งหวาดเสียว ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีฉัมภิตัตตะเป็นต้นเหตุ ครั้นสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เหมือนบุรุษเดินทางไกล เกิดผู้มุ่งหมายเอาชีวิตขึ้นทั้งสองข้างทาง ความหวาดเสียวย่อมเกิดแก่เขา เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , และฉัมภิตัตตะ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       อุพพิละ ( ความตื่นเต้น ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิ ของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีอุพพิละนั้นเป็นต้นเหตุ เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เหมือนบุรุษแสวงหาอยู่ซึ่งขุมทรัพย์ขุมเดียว เขาพบพร้อมกัน คราวเดียวตั้ง 5 ขุม ความตื่นเต้นเกิดขึ้นเพราะการพบนั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น  เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะและอุพพิละ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       ทุฏฐุลละ ( ความคะนองหยาบ ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีทุฏฐุลละนั้นเป็นต้นเหตุ เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ , และทุฏฐุลละ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       อัจจารัทธวิริยะ ( ความเพียรที่ปรารภจัดจนเกินไป ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีอัจจา รัทธวิริยะนั้นเป็นต้นเหตุ  เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เปรียบเหมือนบุรุษจับนกกระจาบด้วยมือทั้งสองหนักเกินไป นกนั้นย่อมตายในมือ ฉะนั้น เราจักกระทำ โดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ, ทุฏฐุลละ , และอัจจารัทธวิริยะ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       อติลีนวิริยะ ( ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีอติลีนวิริยะนั้นเป็นต้นเหตุ. เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เปรียบเหมือนบุรุษจับนกกระจาบหลวมมือเกินไป นกหลุดขึ้นจากมือบินหนีเสียได้ ฉะนั้น เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ , ทุฏฐุลละ , อัจจารัทธวิริยะ , และอติลีนวิริยะ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       อภิชัปปา ( ความกระสันอยาก ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีอภิชัปปาเป็นต้นเหตุ  เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ , ทุฏฐุลละ , อัจจารัทธวิริยะ , อติลีนวิริยะ และอภิชัปปาจะไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

       นานัตตสัญญา ( ความใส่ใจไปในสิ่งต่างๆ ) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว , สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีนานัตตสัญญา นั้นเป็นต้นเหตุ เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่ วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ , ทุฏฐุลละ , อัจจารัทธวิริยะ , อติลีนวิริยะ , อภิชัปปา , และนานัตตสัญญา จะไม่เกิดแก่เราได้อีก รูปานัง อตินิชฌายิตัตตะ (ความเพ่งต่อรูปทั้งหลาย จนเกินไป) แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว, สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว เพราะมีอตินิชฌายิตัตตะเป็นต้นเหตุ เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา , อมนสิการ , ถีนมิทธะ , ฉัมภิตัตตะ , อุพพิละ , ทุฏฐุลละ , อัจจารัทธวิริยะ , อติลีนวิริยะ , อภิชัปปา , นานัตตสัญญา และรูปานัง อตินิชฌายิตัตตะ จะไม่เกิดแก่เราได้อีก

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  เรารู้แจ้งชัดวิจิกิจฉา ( เป็นต้นเหล่านั้น  ) ว่าเป็นอุปกิเลสแห่งจิตแล้ว จึงละแล้วซึ่งวิจิกิจฉา ( เป็นต้นเหล่านั้น ) อันเป็นอุปกิเลส แห่งจิตเสีย

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  เรานั้นเมื่อไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ย่อมจำแสงสว่างได้ แต่ไม่เห็นรูป ( หรือ ) ย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนและทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำ แสงสว่างได้ แต่ไม่เห็นรูป ( หรือ ) เห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนและทั้งวันบ้าง ?

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใดเราไม่ทำรูปนิมิตไว้ในใจ แต่ทำโอภาสนิมิตไว้ในใจ สมัยนั้นเราย่อมจำ แสงสว่างได้ แต่ไม่เห็นรูป  สมัยใดเราไม่ทำโอภาสนิมิตไว้ในใจ แต่ทำรูปนิมิตไว้ในใจ , สมัยนั้นเราย่อมเห็นรูปแต่จำแสงสว่างไม่ได้ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนและทั้งวันบ้าง

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้นิดเดียว เห็นรูปก็นิดเดียวบ้าง , จำแสงสว่างมากไม่มีประมาณ เห็นรูปก็มาก ไม่มีประมาณบ้าง เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนและทั้งวันบ้าง. ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้นิดเดียว เห็นรูปก็นิดเดียวบ้าง , จำแสงสว่างได้มากไม่มีประมาณ เห็นรูปก็มากไม่มีประมาณ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนและทั้งวันบ้าง

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใดสมาธิของเราน้อย สมัยนั้นจักขุก็มีน้อย , ด้วยจักขุอันน้อย เราจึงจำแสงสว่างได้น้อยเห็นรูปก็น้อย. สมัยใดสมาธิของเรามากไม่มีประมาณ สมัยนั้นจักขุของเราก็มากไม่มีประมาณ , ด้วยจักขุอันมากไม่มีประมาณนั้น เราจึงจำแสงสว่างได้มากไม่มีประมาณ เห็นรูปได้มากไม่มีประมาณ , ตลอดคืนบ้าง ตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งคืนและทั้งวันบ้าง

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  ในกาลที่เรารู้แจ้งว่า ( ธรรมมี ) วิจิกิจฉา ( เป็นต้นเหล่านั้น ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิตแล้ว และละมันเสียได้แล้ว กาลนั้นย่อมเกิดความรู้สึกขึ้นแก่เราว่า “อุปกิเลสแห่งจิตของเราเหล่าใด อุปกิเลสนั้นๆ เราละได้แล้ว , เดี๋ยวนี้ เราเจริญแล้วซึ่งสมาธิโดยวิธี 3 อย่าง” 

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  เราเจริญแล้ว ซึ่งสมาธิอันมี วิตกวิจาร , ซึ่งสมาธิอันไม่มีวิตก แต่มีวิจารพอประมาณ , ซึ่งสมาธิอันไม่มีวิตกไม่มีวิจาร , ซึ่งสมาธิอันมีปีติ , ซึ่งสมาธิอันหาปีติมิได้ , ซึ่งสมาธิอันเป็นไปกับด้วยความยินดี , และสมาธิอันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา

       อนุรุทธะทั้งหลาย!  กาลใดสมาธิอันมีวิตกมีวิจาร ( เป็นต้นเหล่านั้นทั้ง 7 อย่าง ) เป็นธรรมชาติอันเราเจริญแล้ว , กาลนั้นญาณเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็นเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า “วิมุตติของเราไม่กลับกำเริบ , ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย , บัดนี้ภพเป็นที่เกิดใหม่ไม่มีอีก” ดังนี้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต  /  หัวข้อใหญ่ : เริ่มแต่ออกบรรพชาแล้วเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้ ทรมานพระองค์ จนได้ตรัสรู้  /  หัวข้อย่อย : ทรงกำหนดสมาธินิมิต ก่อนตรัสรู้  /  หัวข้อเลขที่ : 52  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/302/452.  /  หน้าที่ : 142 , 143 , 144 , 145 , 146 , 147 , 148 

- END -