Monday, March 15, 2021

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้

      ภิกษุทั้งหลาย!  ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มาก ซึ่งสมาธิใด สมาธินั้น ภิกษุย่อมจะได้โดยไม่หนักใจ ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากเลย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญ ทำให้มากซึ่งสมาธิไหนกันเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ด้วยอำนาจแห่งการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ

       ภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิอยู่อย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตามย่อมมีขึ้นไม่ได้?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม แล้วนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นหายใจเข้าก็มีสติ หายใจออกก็มีสติ

       เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว , เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

       เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น , เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้สงบรำงับ หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้สงบรำงับ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้สงบรำงับ หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้ทำ จิตตสังขารให้สงบรำงับ หายใจออก” 

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิต ให้ปราโมทย์บันเทิง หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ ปราโมทย์บันเทิง หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้ดำรงจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้ดำรงจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปลดปล่อย หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปลดปล่อย หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความไม่เที่ยง หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็น ความไม่เที่ยง หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความจางคลาย หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความจางคลาย หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความดับสนิท หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความดับสนิท หายใจออก”

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความสลัดคืน หายใจเข้า” , ว่า “เราจักเป็นผู้มองเห็นความสลัดคืน หายใจออก” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อบุคคลเจริญ ทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิอยู่อย่างนี้แล ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตามย่อมมีขึ้นไม่ได้…

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้เราเองก็เหมือนกัน ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม คืออานาปานสติสมาธินี้เป็นส่วนมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทาน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า กายของเราก็อย่าลำบาก ตาของเราก็อย่าลำบาก และจิตของเราก็จงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่มีอุปาทานเถิด ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ถ้าภิกษุหวังว่า ความครุ่นคิดอันเกี่ยวข้องไปทางเหย้าเรือนของเรา จงหายไปอย่างหมดสิ้น ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าปฏิกูล ต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ต่อสิ่งที่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าปฏิกูล ทั้งต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และต่อสิ่งที่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ทั้งต่อสิ่งที่ปฏิกูล และต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้ไม่ใส่ใจเสียเลย ทั้งต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และต่อสิ่งที่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง แล้วเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเถิด ดังนี้แล้ว ; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี

       ต่อแต่นี้ ได้ตรัสทำ นองนี้เรื่อยไปจนถึง ความหวังจะได้ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ จนกระทั่งความดับเย็นแห่งเวทนา เพราะความไม่เพลิดเพลินในเวทนานั้น เป็นที่สุด โดยผู้ต้องการพึงทำในใจ ซึ่งอานาปานสติสมาธินี้ให้เป็นอย่างดี และสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก พุทธวจน-หมวดธรรม ฉบับที่ 6 อานาปานสติ -ผู้รวบรวม )

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต  /  หัวข้อใหญ่ : เริ่มแต่ออกบรรพชาแล้วเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้ ทรมานพระองค์ จนได้ตรัสรู้  /  หัวข้อย่อย : วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก่อนตรัสรู้  /  หัวข้อเลขที่ : 53  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/399 , 401/1324 , 1329.  /  หน้าที่ : 149 , 150 , 151 , 152 , 153 , 154 

- END -