พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สิ่งที่ตรัสรู้
เรื่อง สิ่งที่ตรัสรู้
ภิกษุทั้งหลาย! มีสิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งอยู่สองอย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะด้วย
สิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งนั้นคืออะไร
คือ การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย อันเป็นการกระทำที่ยังต่ำ เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
, และการประกอบความเพียรในการทรมานตนให้ลำบาก อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ , สองอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย! ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ไม่ดิ่งไปหาที่สุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบอยู่ด้วยองค์ 8 ประการนี่เอง
8 ประการคืออะไรเล่า ?
คือความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลคือข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องความทุกข์ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ * * * ( 1 )
ความตายก็เป็นทุกข์ , ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์ ความพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์ , กล่าวโดยย่อ ขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องแดนเกิดของความทุกข์ คือตัณหา อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน อันเป็นเครื่องให้เพลิดเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ , ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้นนั่นเอง คือ ความสลัดทิ้ง ความสละคืน ความปล่อย ความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องข้อปฏิบัติอันทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ อันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้ ได้แก่ ความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือความทุกข์ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือความทุกข์นี้ เราตถาคตกำหนดรู้รอบแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของทุกข์ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรละเสีย , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของความทุกข์นี้ เราตถาคตละได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของความทุกข์ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เราตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตวให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เราตถาคตได้ทำให้เกิดมีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! ตลอดกาลเพียงไร ที่ญาณทัสสนะ เครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์สาม มีอาการ 12 ในอริยสัจจ์ทั้ง 4 เหล่านี้ ยังไม่เป็นญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี ; ตลอดกาลเพียงนั้น เรายังไม่ปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใด ญาณทัสสนะเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์สาม มีอาการ 12 ในอริยสัจจ์ทั้ง 4 เหล่านี้เป็นญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี ; เมื่อนั้น เราก็ปฏิญญาว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์…
* * * ( 1 ) ในพระไตรปิฎกสยามรัฐ มีคำว่า พฺยาธิปิ ทุกฺขา ด้วย , ซึ่งฉบับสวดมนต์ ไม่มี แต่ไปมีบทว่า โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา , ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่มี.- ผู้แปล
- END -