พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ทรงหมุนแต่จักรที่มีธรรมราชา ( เป็นเจ้าของ )
เรื่อง ทรงหมุนแต่จักรที่มีธรรมราชา ( เป็นเจ้าของ )
ภิกษุทั้งหลาย! แม้พระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชาอยู่แล้ว พระองค์ก็ยังไม่ทรงหมุนจักรอันไม่มีพระราชา ให้เป็นไป
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามขึ้นว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ก็ใครเล่าจะมาเป็นพระราชาให้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาอยู่เองแล้ว”
ภิกษุ! ธรรมนะซิ เป็นพระราชาให้แก่พระเจ้า จักรพรรดิราชผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาอยู่เองแล้ว
ภิกษุ! จักรพรรดิราชผู้ประกอบในธรรม เป็นธรรมราชา ย่อมอาศัยธรรมอย่างเดียว สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นอธิปไตย ย่อมจัดการอารักขาป้องกันและคุ้มครองโดยชอบธรรม ในหมู่ชนในราชสำนัก ในกษัตริย์ที่เป็นเมืองออก ในหมู่พล ในพราหมณ์และคฤหบดี ในราษฎรชาวนิคมและชนบท ในสมณะและพราหมณ์ ทั้งในเนื้อและนก , ทั้งหลาย
ภิกษุ! จักรพรรดิราชผู้ประกอบ ในธรรม เป็นธรรมราชา ผู้เป็นเช่นนี้แลชื่อว่า เป็นผู้หมุนจักรให้เป็นไปโดยธรรมจักรนั้น เป็นจักรที่มนุษย์ใดๆ ผู้เป็นข้าศึก ไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ด้วยมือ ; ข้อนี้ฉันใด ;
ภิกษุ! ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน , ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง เป็นธรรมราชาผู้ประกอบด้วยธรรม อาศัยธรรมอย่างเดียว สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอดธง มีธรรมเป็นอธิปไตย ย่อมจัดการอารักขาป้องกันและคุ้มครองโดยธรรม ในหมู่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยการให้โอวาทว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอย่างนี้ๆ ควรประพฤติ , อย่างนี้ๆ ไม่ควรประพฤติ ; ว่า อาชีวะอย่างนี้ๆ ควรดำเนิน , อย่างนี้ๆ ไม่ควรดำเนิน ; และว่า คามนิคมเช่นนี้ๆ ควรอยู่อาศัย , เช่นนี้ๆ ไม่ควรอยู่อาศัย ดังนี้
ภิกษุ! ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง เป็นธรรมราชาผู้ประกอบในธรรม ผู้เป็นเช่นนี้แล ชื่อว่าย่อมยังธรรมจักร อันไม่มีจักรอื่นยิ่งไปกว่าให้เป็นไปโดยธรรม นั่นเทียว จักรนั้นเป็นจักรที่สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ไม่อาจต้านทานให้หมุนกลับได้ฉะนั้น
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : ทรงเผยแผ่พระศาสนา / หัวข้อย่อย : ทรงหมุนแต่จักรที่มีธรรมราชา ( เป็นเจ้าของ ) / หัวข้อเลขที่ : 81 / -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/168/133. / หน้าที่ : 222 , 223
- END -