Sunday, March 21, 2021

การปรินิพพาน หรือการประทับสีหเสยยาครั้งสุดท้าย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การปรินิพพาน หรือการประทับสีหเสยยาครั้งสุดท้าย 

       อานนท์!  มาเถิด , เราจักไปสู่ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ หิรัญญวดี , ไปยังสวนป่าสาละเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ( ครั้นถึงที่นั้นแล้ว ตรัสสั่งให้ตั้งเตียงปรินิพพาน )

       อานนท์!  เธอจงจัดตั้งเตียงน้อย ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก , จักนอน ( ประทับสีหเสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ , ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์ , ดนตรีล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น ; เพื่อบูชาพระตถาคตเจ้า )

       อานนท์!  การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพ นับถือบูชาแล้วไม่  อานนท์! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง , ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ; ผู้นั้นชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด

       อานนท์!  เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า ‘เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่’ ดังนี้
 
       ต่อจากนี้ ทรงขับท่านพระอุปวาณะ ที่เข้ามาอยู่งานพัด , พระอานนท์ ทูลถามถึงเหตุที่ขับ , ตรัสตอบดังต่อไปนี้ ) :

       อานนท์!  พวกเทวดาในโลกธาตุทั้งสิบโดยมาก มาประชุมกันแล้วเพื่อเห็นตถาคต อานนท์! สวนป่าสาละที่แวะพักของมัลลกษัตริย์แห่งเมือง กุสินารา 12 โยชน์โดยรอบ มิได้มีที่ว่างแม้เท่าปลายขนทราย ที่เทวดามีศักดิ์มิได้ตั้งอยู่ เทวดาทั้งหลาย ย่อมยกโทษว่า ‘เราทั้งหลายมาแต่ไกลเพื่อเห็นพระตถาคต , ต่อนานนักพระตถาคตจึงจะเกิดขึ้นในโลกสักคราวหนึ่ง และการปรินิพพานของพระตถาคต ก็จักมีในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ก็พระภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้มายืนเสียตรงพระพักตร์ บังอยู่ , เราทั้งหลาย ไม่ได้เห็นพระตถาคตในกาลสุดท้าย’ ดังนี้

       ต่อจากนี้ พระอานนท์ทูลถามถึงความรู้สึกภายในใจของพวกเทวดา ได้ตรัสดังต่อไปนี้ )

       อานนท์!  มีพวกเทวดา ผู้มีความสำคัญในอากาศ ว่าเป็นแผ่นดิน , และพวกที่มีความสำคัญในแผ่นดิน ว่าแผ่นดิน พากันสยายผม ร้องไห้คร่ำครวญ กอดแขน ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา ดุจว่ามีเท้าถูกตัด ขาดออก , รำพันอยู่ว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักปรินิพพาน เสียเร็วนัก , พระสุคตจักปรินิพพานเสียเร็วนัก , พระผู้เป็นดวงจักษุในโลก จักดับหายไปเสียเร็วนัก’ , ดังนี้

       ส่วนเทวดาเหล่าใด ปราศจากราคะแล้ว , เทวดาทั้งหลายเหล่านั้น มีสติ สัมปชัญญะ อดกลั้นด้วยรู้สึกว่า ‘สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง , ข้อที่จะให้ได้ตามใจหวังในเรื่องนี้นั้น สัตว์จักได้มาแต่ที่ไหนเล่า’ ดังนี้ 

       ต่อจากนี้ พระอานนท์ทูลถึง เมื่อไม่มีพระองค์แล้วสาวกก็ไม่ได้พบปะกันเหมือนดั่งบัดนี้ , ทรงแสดงสถานที่ 4 แห่ง คือ ที่ประสูติ , ตรัสรู้ , แสดงธรรมจักร , และนิพพาน ว่าเป็นที่ควรเห็นและพบปะกันของพุทธบริษัท ดังที่ปรากฏอยู่ในช่วงท้าย  ต่อจากนั้น ตรัสเรื่อง การปฏิบัติในสตรี คือ การไม่พบปะด้วย , ถ้าต้องพบปะก็ไม่พูด , ถ้าต้องพูดพึงมีสติ , ต่อจากนั้น พระอานนท์ได้ทูลถามถึงการจัดพระศพ )

       อานนท์!  พวกเธออย่าขวนขวาย เพื่อจัดการบูชาสรีระของตถาคตเลย , จงสืบต่อ จงพยายาม ในประโยชน์ของตน ( คือการตั้งหน้าปฏิบัติ ) เถิด , จงอย่าประมาท จงมีความเพียร กำหนดอยู่ในประโยชน์ของตนเถิด 

       อานนท์!  กษัตริย์ , พราหมณ์ , หรือคหบดี ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในตถาคตก็มีอยู่ , เขาเหล่านั้น จักจัดการบูชาสรีระของตถาคต

       ข้าแต่พระองค์!  เขาเหล่านั้น พึงจัดการอย่างไร

       อานนท์!  เขาพึงจัดเหมือนที่จัดในสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ : เขาพันสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็กอีกรางหนึ่ง กระทำจิตกาธานด้วยของหอมทุกอย่างแล้วจึงถวายพระเพลิง , กระทำสถูป ( ที่ระลึก ) สำหรับพระมหาจักรพรรดิ ไว้ ณ หนทางสี่แยก

       อานนท์!  ชนเหล่านั้นพึงปฏิบัติในสรีระของตถาคต เช่นเดียวกับที่ชนทั้งหลายปฏิบัติในสรีระของพระมหาจักรพรรดิ นั้นแล , ชนเหล่าใดวางพวงมาลัย หรือของหอม หรือจุรณ์หอม ณ ที่นั้นก็ดี หรืออภิวาท , หรือทำความเลื่อมใสอยู่ในจิตก็ดี , ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เขาสิ้นกาลนาน.

       ต่อจากนั้นตรัสเรื่องเกี่ยวกับบุคคลควรแก่การก่อสถูป 4 จำ พวก คือ พระตถาคต , พระปัจเจกพุทธะ , พระสาวก , พระเจ้าจักรพรรดิ , พระอานนท์เลี่ยงไปยืนเหนี่ยวไม้เต้ากปิสีสะ ร้องไห้อยู่ , ตรัสให้ไปเรียกตัวมา ตรัสสรรเสริญว่าเป็นยอดของอุปัฏฐากผู้หนึ่ง ในบรรดายอดอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าทั้งปวง และสรรเสริญการรอบรู้ในหน้าที่นี้ และการกล่าววาจาเป็นที่ชอบใจแก่ผู้เข้าไปคบหา , ต่อจากนั้น พระอานนท์ทูลขอให้เสด็จไปปรินิพพานเมืองอื่น เพราะเมืองนี้เป็นเมืองกิ่ง เมืองดอน )

       อานนท์!  เธออย่ากล่าวว่า เมืองน้อย เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย ครั้งก่อนโน้น ราชาพระนามว่ามหาสุทัศน์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิธรรมราชา มีอาณาเขตกระทั่งมหาสมุทรทั้งสี่ ชนะสงคราม มีชนบทมั่งคั่ง ประกอบด้วยรัตนะ 7 ชนิด

       อานนท์!  เมืองกุสินารานี้แล เป็นราชธานของพระเจ้ามหาสุทัศน์ ( ในครั้งนั้น ) ชื่อว่า กุสาวดี ยาวทางบุรพทิศ และปัจฉิมทิศ 12 โยชน์ กว้างทางอุตตรทิศ และทักขิณทิศ 7 โยชน์ เกลื่อนกล่นด้วยหมู่มนุษย์ …

       อานนท์!  เธอจงเข้าไปในเมืองกุสินารา จงบอกแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย แห่งเมืองกุสินาราว่า ‘กษัตริย์ผู้วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้ การปรินิพพานของพระตถาคตเจ้าจักมี เชิญท่านทั้งหลายรีบไป , ขออย่าต้องเดือดร้อนในภายหลังว่า การปรินิพพานของพระตถาคตเจ้า ได้มีแล้วในคามเขตของพวกเรา แต่พวกเรามิได้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย’

       ( พระอานนท์ผู้เดียว เข้าไปแจ้งแก่มัลลกษัตริย์ มัลลกษัตริย์ คร่ำครวญโดยนัยเดียวกับพวกเทวดาที่กล่าวมาแล้ว พากันออกมาเฝ้าพระองค์ . พระอานนท์จัดให้เฝ้าโดยขานชื่อถวายทีละพวก เสร็จก่อนปฐมยาม ต่อจากนี้สุภัททปริพพาชก มีโอกาสเข้าเฝ้า ทูลถามความผิดหรือถูกของลัทธิอื่นๆ. ตรัสห้ามเสีย แล้วตรัสถึงเรื่องสมณะที่แท้จริง มีเฉพาะในศาสนาที่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 , ไม่มีในศาสนาที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ 8 )

       สุภัททะ!  เราเมื่อมีวัย 29 ปี บวชแล้วแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศลๆ , นับแต่บวชแล้วได้ 51 ปี ความเป็นไปแห่งธรรมประเทศเครื่องตรัสรู้ มิได้มีภายนอกจากธรรมวินัยนี้ , แม้สมณะ ( สมณะที่ 1 คือ โสดาบัน ) ก็มิได้มี  ภายนอกจากธรรมวินัยนี้ แม้สมณะที่ 2 , ที่ 3 , ที่ 4 , ก็มิได้มี วาทะเครื่องสอนของผู้อื่น ว่างจากสมณะของพวกอื่น

       สุภัททะ!  ก็ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบเถิด โลกก็จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

       (  ต่อจากนี้ สุภัททะทูลสรรเสริญเทศนา ขอบรรพชาอุปสมบท ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาสก่อนอุปสมบท , ต่อมาไม่นานได้บรรลุอรหัตตผล ( เธอเป็นสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ ) , ต่อจากนี้ ได้ตรัสพระโอวาทที่สำคัญๆ ต่างๆ อีก 4 - 5 เรื่อง )

       อานนท์!  ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า ‘ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’ ดังนี้ 

       อานนท์! พวกเธออย่าคิดดังนั้น

       อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

       อานนท์!  เวลานี้ พวกภิกษุทั่วไป เรียกกันด้วยคำว่า อาวุโส แก่กันและกัน ( ทั้งแก่ทั้งอ่อน ) ; โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว ไม่ควรเรียกร้องกันดั่งนั้น :

       ผู้แก่กว่า จงเรียกผู้อ่อน โดยชื่อ หรือโดยชื่อสกุล หรือโดยคำว่าอาวุโส  ,

       ผู้อ่อนกว่า จงร้องเรียกผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรือ อายัส๎มา

       อานนท์!  โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงเลิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ , ถ้าต้องการ

       อานนท์!  โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ , คือ ภิกษุฉันนะจงกล่าวอะไรได้ตามพอใจ , ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนเธอ

       ต่อจากนี้ตรัสประทานโอกาสครั้งสุดท้ายให้ผู้นั้นกล่าวออกมาได้ ถ้าใครยังสงสัยรังเกียจอันใดบ้าง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ )

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่ง มีความเคลือบแคลง เห็นแย้งในพระพุทธ , พระธรรม , พระสงฆ์ , ในมรรค ในข้อปฏิบัติก็ดี จงถามเสีย อย่าเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังว่า ‘เราอยู่เฉพาะหน้า พระศาสดาแล้ว ไม่กล้าถามในที่เฉพาะหน้า’ ดังนี้

       ไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม ตลอดเวลาที่ทรงเตือนซ้ำจนครบสามครั้ง , ในที่สุดตรัสว่า ถ้าไม่กล้าถามเอง ให้วานเพื่อนถามแทน , ก็ไม่มีใครทูลถาม. พระอานนท์ทูลสรรเสริญความที่ภิกษุสงฆ์แม้แต่รูปหนึ่ง ก็ไม่มีใครเคลือบแคลงในพระศาสดา หรือธรรมวินัยของตน , ตรัสว่า ) :

       อานนท์!  เธอกล่าวด้วยความเลื่อมใสและหยั่งถึง ที่จริงในเรื่องนี้ ความรู้สึกของตถาคตก็มีแล้วว่า ความเคลือบแคลง เห็นแย้ง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในข้อปฏิบัติ ของภิกษุแม้รูปเดียว ในภิกษุสงฆ์นี้ไม่มีเลย ,

       อานนท์! เพราะว่าในบรรดาภิกษุ 500 รูปเหล่านี้ รูปใด ที่ต่ำที่สุดกว่าเขาทั้งปวง รูปนั้น ก็ยังเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงต่อนิพพาน มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า , ( ในที่สุด ได้ทรงเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า ) :

       ภิกษุทั้งหลาย!  บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า ‘สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด’ ดังนี้ นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต  /  หัวข้อใหญ่ : การปรินิพพาน  /  หัวข้อย่อย : การปรินิพพาน หรือการประทับสีหเสยยาครั้งสุดท้าย  /  หัวข้อเลขที่ : 125  /  -บาลี มหา. ที. 10/159/128.  /  หน้าที่ : 303 , 304 , 305 , 306 , 307 , 308 , 309 , 310 

- END -