Sunday, October 2, 2022

อริยวินัย - ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-2

 

- หน้า 2 -



หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  >  3  >  4  >  5  >  6  >  7 



* * * ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง

- บาลี มหาวาร. สํ. 19/216/740  


       ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ 



* * * อริยวงศ์ 4 อย่าง 

- บาลี ปา. ที. 11/236/237   


       1. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งจีวร และไม่ได้จีวรก็ไม่เดือดร้อน และได้จีวรแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่นไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น 

       ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในสันโดษด้วยจีวรนั้น ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แลเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม 



       2. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก 

       ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญ ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะเพราะเหตุแห่งบิณฑบาต และไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่เดือดร้อน และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น 

       ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม 



       3. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วย เสนาสนะ /////  ตามมีตามได้ และมีปรกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และย่อมไม่ถึงการแสวงหาที่ไม่ควร ไม่เหมาะ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ และไม่ได้เสนาสนะก็ไม่เดือดร้อน และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่เกี่ยวเกาะ ไม่หมกมุ่น ไม่ติดแน่น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภคอยู่ กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น 

       ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในสันโดษด้วยเสนาสนะนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม 



       4. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้มี ปหานะ ///// เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในปหานะ ย่อมเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในภาวนา กับทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีปหานะเป็นที่มายินดี เพราะความยินดีในปหานะ เพราะความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี เพราะความยินดีในภาวนานั้น 

       ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นในปหานะและภาวนานั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ของเก่าอันยอดเยี่ยม 



* * * ทรงชักชวนฉันอาหารวันละหนเดียว 

- บาลี มู. ม. 12/251/265


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พวกภิกษุได้ทำจิตของเราให้ยินดีเป็นอันมาก เราขอเตือนภิกษุทั้งหลายไว้ในที่นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียว เมื่อเราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวเถิด 

       แม้พวกเธอฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวกัน ก็จะรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากายมีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก 



* * * อะไรชื่อว่าความขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์ 

- บาลี สตฺตก.อํ. 23/55/47  


       1. ดูกรพราหมณ์ ถูกแล้ว สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม

       แต่ยังยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดฟั้นของมาตุคาม พอใจชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น 

       แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์

       ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ 


       2. ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำและการนวดฟั้นของมาตุคาม 

       แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม พอใจ ชอบใจถึงความปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น... 


       3. ...แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น...


       4. ...แต่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยเสียงนั้น... 


       5. ...แต่ตามนึกถึงการหัวเราะ พูดเล่นหัว กับมาตุคามในกาลก่อน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยอาการนั้น... 


       6. ...แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น... 


       7. ...แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ พอใจ ชอบใจถึงความปลื้มใจ ด้วยความปรารถนานั้น 

       แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์ 



       ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และ อุปายาส /////  เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ 



* * * พระเจ้าปเสนทิโกศลพรรณาคุณพระภิกษุในธรรมวินัยนี้ 

- บาลี ม. ม. 13/509,511/563,565 
 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระราชาก็ยังวิวาทกับพระราชา แม้กษัตริย์ก็ยังวิวาทกับกษัตริย์ แม้พราหมณ์ก็ยังวิวาทกับพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็ยังวิวาทกับคฤหบดี แม้มารดาก็ยังวิวาทกับบุตร แม้บุตรก็ยังวิวาทกับมารดา แม้บิดาก็ยังวิวาทกับบุตร แม้บุตรก็ยังวิวาทกับบิดา แม้พี่น้องชายก็ยังวิวาทกับพี่น้องหญิง แม้พี่น้องหญิงก็ยังวิวาทกับพี่น้องชาย แม้สหายก็ยังวิวาทกับสหาย 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ สมัครสมานกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำกับน้ำนม มองดูกันและกัน ด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันไม่เคยเห็นบริษัทอื่นที่สมัครสมานกันอย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเป็นขัตติยราช ได้ มูรธาภิเษก  /////  แล้ว ย่อมสามารถจะให้ฆ่าคนที่ควรฆ่าได้ จะให้ริบคนที่ควรริบก็ได้ จะให้เนรเทศคนที่ควรเนรเทศก็ได้ 

       เมื่อหม่อมฉันนั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ก็ยังมีคนทั้งหลายพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ หม่อมฉันจะห้ามว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเรานั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ท่านทั้งหลาย อย่าพูดสอดขึ้นในระหว่าง จงรอคอยให้สุดถ้อยคำของเราเสียก่อน ดังนี้ ก็ไม่ได้ คนทั้งหลายก็ยังพูดสอดขึ้นในระหว่างถ้อยคำของหม่อมฉัน 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ในสมัยใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคไม่มีเสียงจามหรือไอเลย

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาครูปหนึ่งได้ไอขึ้น

       เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่ง ได้เอาเข่ากะตุ้นเธอรูปนั้น ด้วยความประสงค์จะให้เธอรู้สึกตัวว่า ท่านจงเงียบเสียง อย่าได้ทำเสียงดังไป พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลายกำลังทรงแสดงธรรมอยู่

       หม่อมฉันเกิดความคิดขึ้นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมา ได้ยินว่าบริษัทจักเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงฝึกดีแล้วอย่างนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่เคยได้เห็นบริษัทอื่นที่ฝึกได้ดีอย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้ 

       แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน  



* * * มองดูกันและกันด้วยสายตาแห่งความรักอยู่ ได้อย่างไร 

- บาลี มู. ม. 12/387-388/362-363 


       ดูกรอนุรุทธ นันทิยะ และกิมิละ พวกเธอพอจะอดทนได้ละหรือ พอจะยังชีวิตให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

       ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์พอจะอดทนได้ พอจะยังมีชีวิตให้เป็นไปได้ พวกข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต 


       ก็พวกเธอ ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ

       เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า 


       ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร 

       พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เห็นปานนี้ ข้าพระองค์เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

       ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงเก็บจิตของตนเสียแล้ว ประพฤติตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ แล้วข้าพระองค์ก็เก็บจิตของตนเสีย ประพฤติอยู่ตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ 

       กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันจริงแล แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน… 


       ดีละ ดีละ อนุรุทธ … 



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-2  



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 1,007 , 1,008 , 1,009 , 1,010 , 1,011 , 1,012 




- จบหน้า 2 - 


หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  >  3  >  4  >  5  >  6  >  7