Sunday, October 2, 2022

อุปายาส

 

อุปายาส  



       อุปายาส - ความคับใจ, ความแค้นใจ, ความลำเค็ญใจ เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งความคับใจ  



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.online-english-thai-dictionary.com/?word=อุปายาส&d=2&m=0&p=1  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       อุปายาส 

       เพชรเม็ดหนึ่งในบาลี 

       ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ยาด

       บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ยา-สะ


       “อุปายาส” รากศัพท์มาจาก อุป + อายาส 

       ( 1 ) “อุป” 

       ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” : 

       “อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ- เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”

       นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป , ใกล้ , มั่น” 

       “อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ -

              ( 1 ) ข้างบน , บน ( on upon , up ) 

              ( 2 ) ข้างนอก ( out ) 

              ( 3 ) สุดแต่ ( up to ) 

              ( 4 ) สูงขึ้น , ข้างต้น ( higher , above ) 

              ( 5 ) ใกล้ชิด , ใกล้เคียง , ใกล้ ( close by , close to , near )

              ( 6 ) ทีเดียว , โดยประการทั้งปวง ( quite , altogether ) 

              ( 7 ) เกือบ , ราว ๆ , ค่อนข้าง , เล็กน้อย , รอง , โดย - , น้อย ๆ , ทำตามแบบ ( nearly , about , somewhat , a little , secondary , by - , miniature , made after the style of ) 

              แต่ในที่นี้ “อุป” มีความหมายเฉพาะ ไม่ตรงกับความหมายดังที่แสดงมานี้ ( ดูข้างหน้า ) 



       ( 2 ) “อายาส” 

       บาลีอ่านว่า อา-ยา-สะ รากศัพท์มาจาก อา ( คำอุปสรรค = ทั่ว , ยิ่ง , กลับความ ; ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” ) + ยสฺ ( ธาตุ = พยายาม , ขยัน , หมั่น ; อา + ยสฺ = ท้อแท้ , เศร้า ) + ณ ปัจจัย , ลบ ณ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” ( ยสฺ > ยาส ) 

       : อา + ยสฺ = อายสฺ + ณ = อายสณ > อายส > อายาส ( ปุงลิงค์ ) แปลตามศัพท์ว่า “ความท้อแท้” “ความเศร้า” หมายถึง ความยุ่งยาก , ความเสียใจ ( trouble , sorrow )

       อุป + อายาส = อุปายาส ( อุ-ปา-ยา-สะ ) แปลว่า “ความเสียใจอย่างยิ่ง” 

       “อุป” เมื่อนำหน้าหรือรวมกับ “อายาส” ( อุป + อายาส = อุปายาส ) ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า “ภุโส อติวิย อายาโส อุปายาโส” ( คัมภีร์ปัญจิกา* ภาค 3 หน้า 313 ) 


………….. 

หมายเหตุ: *ปัญจิกา เป็นชื่อคัมภีร์ประเภทอัตถโยชนา ( คือคัมภีร์อธิบายศัพท์และแนะวิธีแปล มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “โยชนา” ) ของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทยชั้น ป.ธ.9 


………….. 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปายาส” ว่า [ a kind of] trouble , turbulence , tribulation , unrest , disturbance , unsettled condition ( ความทุกข์ยาก [ ชนิดหนึ่ง ] , ความระทม , ความยากลำบาก , ความไม่สงบ , ความโกลาหล , ภาวะที่ไม่ราบรื่น ) 

       นักธรรมะของเรานิยมแปล “อุปายาส” ว่า “ความคับแค้นใจ” 

       พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ว่า -

       “อุปายาส : ( คำนาม ) ความคับใจ , ความแค้นใจ , ความลำเค็ญใจ เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง” 

       คำว่า “อุปายาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 



ขยายความ : 

       “อุปายาส” ที่นักธรรมของเราน่าจะคุ้นกันดี-โดยเฉพาะท่านที่ชอบทำวัตรสวดมนต์ ก็คือที่แสดงไว้ใน “สังเวคปริกิตตนปาฐะ” ที่สวดต่อท้ายบททำวัตรเช้า ดังจะขอยกมาเสนอเพื่อเป็นการเจริญสติดังนี้ (ในที่นี้เขียนแบบบาลีไทย) 


………….. 

       ชาติปิ ทุกขา - แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ 

       ชะราปิ ทุกขา - แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ 

       มะระณัมปิ ทุกขัง - แม้ความตายก็เป็นทุกข์ 

       โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา - แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ 

       อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข - ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์

       ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข - ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ 

       ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง - ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

       สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา - ว่าโดยสรุป อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์   



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2022/08/25/อุปายาส-เพชรเม็ดหนึ่งใน/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -