Saturday, October 1, 2022

พรหมทัณฑ์

 




       พรหมทัณฑ์ ความหมาย คือ โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น

       พระฉันนะซึ่งเป็นพระเจ้าพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้ 



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://dekgenius.com/dictionary/religion/buddhism-3215.htm 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พรหมทัณฑ์ 

       การลงโทษแบบอารยชน

       อ่านว่า พฺรม-มะ-ทัน 

       ประกอบด้วยคำว่า พรหม + ทัณฑ์

       ( 1 ) “พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ ( ธาตุ = เจริญ , ประเสริฐ ) + ม ปัจจัย

       : พฺรหฺ + ม = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ -

              ( 1 ) ความดีประเสริฐสุด ( the supreme good )  

              ( 2 ) คัมภีร์พระเวท , สูตรลึกลับ , คาถา , คำสวดมนต์ ( Vedic text , mystic formula , prayer ) 

              ( 3 ) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล ( the god Brahmā chief of the gods , often represented as the creator of the Universe ) 

              ( 4 ) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก ( a brahma god , a happy & blameless celestial being , an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka] ) 

              ( 5 ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ ( holy, pious , a holy person ) 



ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง -

              ( 1 ) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

              ( 2 ) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น 

              ( 3 ) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา ( ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข ) กรุณา ( ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา ) มุทิตา ( ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง ) อุเบกขา ( วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ) 



คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร ?

       ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี

       แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ 



       ( 2 ) “ทัณฑ์” 

       บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ ( ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก ) รากศัพท์มาจาก : 

              ( 1 ) ทมฺ ( ธาตุ = ฝึก , ข่ม , ทรมาน ) + ฑ ปัจจัย , แปลง มฺ เป็น ณฺ

              : ทมฺ > ทณฺ + ฑ = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์ , การทรมาน , การลงอาญา , การถูกปรับ 


              ( 2 ) ทฑิ ( ธาตุ = ตี , ประหาร ) + ก ปัจจัย , ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ , ลบ ก และสระที่สุดธาตุ 


              : ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + ก = ทณฺฑก > ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้ , ไม้เท้า , ไม้เรียว 

       “ทณฺฑ” ( ปุงลิงค์ ) มีความหมายหลัก 2 อย่าง คือ ไม้ที่หยิบถือได้ ( a stick , staff , rod ) และ การลงโทษ ( punishment ) 

       ในที่นี้ “ทณฺฑ” หมายถึงการลงโทษ 



       พฺรหฺม + ทณฺฑ = พฺรหฺมทณฺฑ แปลว่า “การลงโทษอย่างผู้ประเสริฐ”


       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พฺรหฺมทณฺฑ” ว่า “the highest penalty ,” a kind of severe punishment [ temporary deathsentence? ] ( “พรหมทัณฑ์”, การลงโทษที่สูงสุดอย่างหนึ่ง [ การลงโทษหนักชั่วคราว] ) 


       บาลี “พฺรหฺมทณฺฑ” ในภาษาไทยใช้เป็น “พรหมทัณฑ์”


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

       “พรหมทัณฑ์ : ( คำนาม ) ตามศาสนาพราหมณ์หมายความว่า “ไม้พระพรหม” ชื่อศัสตรากายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง ; การสาปแห่งพราหมณ์ ; โทษอย่างสูง คือห้ามไม่ให้ใคร ๆ พูดด้วยในหมู่สงฆ์ด้วยกัน. ( ส. , ป. )” 


       พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “พรหมทัณฑ์” เป็นอังกฤษ ดังนี้ -

       พรหมทัณฑ์ : ( Brahmadaṇḍa ) lit. sublime punishment; punishment by suspending or breaking off conversation and communication; sanctioned punishment by silent treatment.


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “พรหมทัณฑ์” ไว้ดังนี้ -

       “พรหมทัณฑ์ : โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น , พระฉันนะซึ่งเป็นภิกษุเจ้าพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้” 



ขยายความ : 

       คำที่มีความหมายทำนองเดียวกับ “พรหมทัณฑ์” คือ “คว่ำบาตร”


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

       “คว่ำบาตร : ( สํานวน ) ( คำกริยา ) ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย , เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น” 


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “คว่ำบาตร” ไว้ดังนี้ -

       “คว่ำบาตร : การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วย คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม , บุคคลต้นบัญญัติ คือวัฑฒลิจฉวี ซึ่งถูกสงฆ์คว่ำบาตร เพราะโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติอันไม่มีมูล , คำเดิมตามบาลีว่า ปัตตนิกกุชชนา” 


       สรุปเป็นหลักว่า -

       “พรหมทัณฑ์” เป็นวิธีลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุด้วยกัน

       “คว่ำบาตร” เป็นวิธีลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่คฤหัสถ์ 



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2018/04/26/พรหมทัณฑ์-การลงโทษแบบอา/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -