Friday, October 7, 2022

รัตตัญญู

 




       รัตตัญญู ( อ่านว่า รัด-ตัน-ยู ) - "ผู้รู้ราตรี" หมายความว่า ผู้รู้กาลนาน, ผู้มีอายุมาก จำกิจการต่างๆ ได้มาก  



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-pleang/รัตตัญญู  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       รัตตัญญู  

       อ่านว่า รัด-ตัน-ยู 

       “รัตตัญญู” เขียนแบบบาลีเป็น “รตฺตญฺญู” แยกศัพท์เป็น รตฺต + ญู 

       ( 1 ) “รตฺต”

       อ่านว่า รัด-ตะ รากศัพท์มาจาก -

              ( 1 ) รา ( ธาตุ = ถือเอา ) + ต ปัจจัย , ลบ อา ที่สุดธาตุ ( รา > ร ) , ซ้อน ตฺ 

              : รา > ร + ตฺ + ต = รตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ถือเอาความไม่เบียดเบียน” ( คือหยุดกิจการต่างๆ ) 


              ( 2 ) รญฺช ( ธาตุ = กำหนัด , ยินดี ) + ต ปัจจัย , ลบ ญฺช ที่ ( ร ) - ญฺช ( รญฺช > ร ) , ซ้อน ต 

              : รญฺช > ร + ตฺ + ต = รตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้มีความกำหนัด” 


              “รตฺต” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ -

              ( 1 ) กลางคืน ( night ) 


              ( 2 ) เวลาโดยทั่วๆ ไป ( time in general )

              รตฺต เมื่อมีคำอื่นนำหน้ามักใช้ในฐานะเป็น “กริยาวิเศษณ์” คือเป็น “-รตฺตํ” เช่นในคำว่า “ทีฆรตฺตํ” ( ที-คะ-รัด-ตัง ) หมายถึง ตลอดเวลายาวนาน ( a long time )


       ( 2 ) “ญู” 

       รากศัพท์มาจาก ญา ( ธาตุ = รู้ ) + รู ปัจจัย , ลบสระที่สุดธาตุ ( ญา > ญ ) และลบ ร ที่ รู ( รู > อู ) 

       : ญา > ญ + รู > อู = ญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้” หมายถึง รู้, ยอมรับ , รับรู้ ( knowing , recognizing , acknowledging ) 

       พึงทราบว่า โดยปกติแล้ว “ญู” ศัพท์นี้จะไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะมีศัพท์อื่นมาสมาสข้างหน้าเสมอ เช่น -

       กตญฺญู = ผู้รู้คุณที่ผู้อื่นทำแล้ว 

       มตฺตญู = ผู้รู้ประมาณ , ผู้รู้จักความพอดี 

       สพฺพญฺญู = ผู้รู้สรรพสิ่ง เป็นต้น


       รตฺต + ญู ซ้อน ญฺ 

       : รตฺต + ญฺ + ญู = รตฺตญฺญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ราตรี” หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน ( knowing many nights ) 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รตฺตญฺญู” ว่า of long standing, recognized ( รัตตัญญู , มีผู้รู้จักมักคุ้นมานานแล้ว , เป็นที่รู้จักกันทั่ว ) 

       “รตฺตญฺญู” ในภาษาไทยใช้เป็น “รัตตัญญู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

       “รัตตัญญู : ( คำนาม ) ผู้รู้กาลนาน , ผู้มีอายุมาก จํากิจการต่าง ๆ ได้มาก. (ป.).” 


ขยายความ : 

       “รตฺตญฺญู” เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาตำแหน่งพระมหาสาวกที่พระพุทธองค์ทรงยกย่อง เรียกว่า “เอตทัคคะ” คือผู้เป็นเลิศในทางต่างๆ ในที่นี้คือ ผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายในทางรู้ราตรีนาน คือมีอายุกาลยาวนานกว่าภิกษุอื่นๆ 

       พระสากที่เป็นเอตทัคคะในทาง “รัตตัญญู” คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ดังสำนวนในพระไตรปิฎกแสดงไว้ดังนี้ - 


…………..

       เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ รตฺตญฺญูนํ ยทิทํ อญฺญาโกณฺฑญฺโญ 

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญาโกณฑัญญะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้รู้ราตรีนาน


………….. 

       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะไว้ดังนี้ 


…………..

       อัญญาโกณฑัญญะ : พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อโกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ 8 คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกุมาร และเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่า พระกุมารจะทรงออกบรรพชาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคติเป็นอย่างเดียว ต่อมาท่านออกบวชตามเสด็จพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระเบญจวัคคีย์ และได้นำคณะหลีกหนีไปเมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยากลับเสวยพระกระยาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรด ท่านสดับปฐมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า 

       โกณฑัญญะ ที่ได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะเมื่อท่านฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ๆ” ( โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ ) คำว่า อัญญา จึงมารวมเข้ากับชื่อของท่าน ต่อมาท่านได้สำเร็จอรหัตด้วยฟังอนัตตลักขณสูตร ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู ( รู้ราตรีนาน คือ บวชนาน รู้เห็นเหตุการณ์มากมาแต่ต้น ) ท่านทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ฝั่งสระมันทากินี ในป่าฉัททันตะวัน แดนหิมพานต์ อยู่ ณ ที่นั้น 12 ปี ก็ปรินิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2020/07/19/รัตตัญญู-อ่านว่า-รัด-ตัน/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -