Saturday, October 15, 2022

สภาคาบัติ

 




       สภาคาบัติ - ต้องอาบัติอย่างเดียวกัน   



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%C0%D2%A4%D2%BA%D1%B5%D4  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

วินิจฉัยเรื่องสภาคาบัติในวันอุโบสถ

       ก่อนอื่น ต้องเข้าใจเรื่องสภาคาบัติก่อน สภาคาบัติ มี 2 ชนิด คือ 

       1. วัตถุสภาคา - เรื่องที่ล่วงละเมิดเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาลเหมือนกัน , รับเงินเหมือนกัน 

       2. อาปัตติสภาคา ต้องอาบัติเป็นประเภทเดียวกัน เช่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกัน 


       ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาวัตถุสภาคาเท่านั้น

       *เมื่อสงฆ์ในวัดหนึ่งต้องสภาคาบัติ ในวันอุโบสถควรปฏิบัติอย่างไร?

       ในกังขาวิตรณีอรรถกถาตอนอธิบายนิทานุทเทส ท่านแสดงวิธีไว้ว่า 

       ก็เมื่อมีสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นควรส่งภิกษุรูปหนึ่งไปวัดใกล้เคียงที่จะสามารถกลับมาทันได้ในวันนั้น โดยบอกท่านว่า “ท่านจงไปทําคืนอาบัตินั้นแล้วก็จงกลับมา พวกเราจักทําคืนอาบัติในสํานักของท่าน” หากทําอย่างนั้นแล้วได้ภิกษุผู้ทําคืนอาบัติเสร็จแล้วกลับมา ก็เป็นการดี หากไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ทรงทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า 

       “สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ, อยํ สพฺโพ สํโฆ สภาคํ อาปตฺตึ อาปนฺโน , ยทา อญฺญํ ภิกฺขุํ สุทฺธํ อนาปตฺติกํ ปสฺสิสฺสติ , ตทา ตสฺส สนฺติเก ตํ อาปตฺตึ ปฏิกริสฺสติ” 

       ( แปลว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติ เมื่อใดเห็นภิกษุอื่นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ เมื่อนั้น ก็จักทําคืนอาบัตินั้นในสํานักของภิกษุนั้น )


       พอสวดเสร็จแล้ว สงฆ์ก็สามารถทําอุโบสถกรรมได้ 

       ก็ถ้าภิกษุบางรูปในสงฆ์ที่ต้องสภาคาบัตินี้เข้าใจว่า “การแสดงสภาคาบัติสมควร” จึงได้แสดงในสํานักของภิกษุรูปหนึ่ง อาบัติที่แสดงก็เป็นอันแสดงดีแล้วทีเดียว แต่ภิกษุทั้งสองรูปย่อมต้องอาบัติทุกกฏ คือภิกษุผู้แสดงต้องอาบัติอื่นจากอาบัติเดิมเพราะเหตุคือการแสดง และภิกษุผู้รับต้องอาบัติเพราะเหตุคือการรับอาบัติทุกกฏนั้นมีวัตถุต่างกัน เหตุนั้น เธอทั้งสองพึงแสดงกะกันและกัน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเธอก็จะเป็นผู้ไม่มีอาบัติ ภิกษุที่เหลือก็พึงแสดงหรือบอกสภาคาบัติในสํานักของภิกษุสองรูปนั้น 


สรุปว่า

       วิธีปฏิบัติเมื่อมีสภาคาบัติในวันอุโบสถ มี 2 วิธี คือ 

       1 ) ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปแสดงอาบัติในวัดใกล้เคียงพอให้กลับมาทันในวันนั้น 

       2 ) สวดประกาศญัตติสภาคาบัติ 


       การแสดงสภาคาบัติกะกันและกันแม้จะทำให้ออกจากอาบัติได้เช่นกัน แต่ไม่แนะนำวิธีนี้เพราะการแสดงและรับสภาคาบัติมีอาบัติทุกกฏ หากรู้อยู่ยังทำก็ชื่อว่าจงใจล่วงละเมิดอาบัติ ย่อมจะได้ชื่อว่า อลัชชี ( ตัวอย่างที่ยกมาในอรรถกถาเป็นกรณีที่ท่านเข้าใจผิดว่าการแสดงสภาคาบัติสมควร ) 


* * * หากภิกษุทุกรูปที่จะทำอุโบสถกรรมร่วมกันนั้นมีอาบัติในเรื่องเดียวกันอยู่ก็ไม่ควรทำอุโบสถ เพราะมิได้ปัตตกัลละ  ( ถึงเวลาเหมาะสม ) 


ปัตตกัลละในเรื่องอุโบสถ มี 4 อย่าง คือ 

       1. เป็นวันอุโบสถ 

       2. มีภิกษุครบจำนวนที่จะทำสังฆกรรม 

       3. ภิกษุผู้ร่วมทำสังฆกรรมไม่มีสภาคาบัติ 

       4. ไม่มีวัชชนียบุคคล** อยู่ในหัตถบาสสงฆ์ ( **วัชชนียบุคคล หมายถึง บุคคลต้องห้ามร่วมหัตถบาสสงฆ์ในสังฆกรรม ได้แก่ คฤหัสถ์และภิกษุปาราชิกเป็นต้น  /  หัตถบาส คือ ระยะที่เหยียดแขนไปแตะกันถึง ) 


* * *เรื่องสภาคาบัตินี้เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับภิกษุมากทีเดียวและพบเห็นได้มากในปัจจุบัน เพราะมีสิกขาบทหลายๆ ข้อที่พบเห็นการล่วงละเมิดกันมากจนเหมือนเป็นเรื่องปรกติมีเรื่องการรับเงินทอง , การฟังเพลง , การฉันอาหารในเวลาวิกาล เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ภิกษุในวัดเดียวกันจะต้องอาบัติเรื่องเดียวกันจึงมีมาก ซึ่งถ้าไม่แก้ไขก่อน ก็ไม่ควรทำอุโบสถดังที่กล่าวไว้ข้างต้น 

       ( อาบัติในเพราะรับเงินไม่สามารถแก้ไขด้วยเพียงแสดงอาบัติได้ ตราบใดที่ยังไม่สละเงินที่รับมานั้นเสียก่อน ) 

       จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ขอพระสัทธรรมจงดำรงมั่นตลอดกาลนาน 

       นานาวินิจฉัย โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.facebook.com/PM.Silanunda/photos/a.1625905267483352/1960397904034085/?type=3  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -